การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552

← พ.ศ. 2551 11 มกราคม พ.ศ. 2552 พ.ศ. 2556 →
ลงทะเบียน2,120,721
ผู้ใช้สิทธิ51.10% (ลดลง 3.08 จุด)
 
ผู้สมัคร หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ยุรนันท์ ภมรมนตรี
พรรค ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย
คะแนนเสียง 934,602 611,669
% 45.41% 29.72%

 
ผู้สมัคร หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล แก้วสรร อติโพธิ
พรรค อิสระ กรุงเทพฯ ใหม่
คะแนนเสียง 334,846 144,779
% 16.27% 7.03%


ผู้ว่าราชการก่อนการเลือกตั้ง

อภิรักษ์ โกษะโยธิน
ประชาธิปัตย์

ว่าที่ผู้ว่าราชการ

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ประชาธิปัตย์

โปสเตอร์รณรงค์ให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 9 โดยจัดขึ้นในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552 เนื่องจากอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนเดิม นายอภิรักษ์ โกษะโยธินได้ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง

การรับสมัคร[แก้]

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 30 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วันแรก[แก้]

โดยในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นวันรับสมัครวันแรก มีผู้สมัครเดินทางมาก่อนเวลา 08.30 น. จำนวน 7 คน ได้แก่ นางลีนา จังจรรจา ซึ่งเดินทางมาตั้งแต่ 05.45 น. พร้อมทีมงานอีก 5 คน และลงทะเบียนในเวลา 07.15 น. ขณะที่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาลงทะเบียนเวลา 07.19 น. โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสมาชิกพรรคเดินทางมาให้กำลังใจ ตามด้วย ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หรือในฉายา "ตู่ ติงลี่" มาพร้อมกับขบวนเชิดสิงโต ขบวนรถตุ๊กตุ๊ก พร้อมกับนำไม้เท้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ร. 5 และดาบหลวงปู่ฤๅษีนารอด มาลงทะเบียนในเวลา 07.59 น. นายกงจักร ใจดี นักวิชาการภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้สมัครหน้าใหม่ เดินทางมาในเวลา 08.00 น. นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล อดีตผู้สมัคร เดินทางมาพร้อมกับหมวกเปาบุ้นจิ้น มาในเวลา 08.07 น. นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ อดีตผู้สมัคร เดินทางมาด้วยชุดสีดำ และเครื่องประดับเพชรทั้งตัว ในเวลา 08.17 น. ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน นายอิสระ อมรเวช ก็ได้เดินทางมาถึง[1]

วันต่อมา[แก้]

ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลา 09.00 น. หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ "หม่อมปลื้ม" เดินทางมายื่นใบสมัครเป็นลำดับที่ 8 ในชุดสูทสีคราม แม้จะไม่มีกองเชียร์ใด ๆ มาให้กำลังใจ แต่ก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนที่เฝ้าติดตามทำข่าวเป็นจำนวนมาก หลังการสมัครและได้หมายเลขประจำตัว คือ หมายเลข 8 แล้ว ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนมาสมัครในสังกัดอิสระ โดยจะใช้การหาเสียงผ่านหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ตซึ่งจะเริ่มเผยแพร่ ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ต่อมาเวลา 09.10 น. นายวิทยา จังกอบพัฒนา ที่เคยสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่แล้ว ได้หมายเลข 9 เดินทางมายื่นใบสมัครเป็นลำดับที่ 9 และได้ หมายเลข 9 อีกครั้งในการลงสมัครครั้งนี้

และในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัคร โดยนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ "แซม" อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ได้เดินทางมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ในสังกัดพรรคเพื่อไทย โดยมีนายการุณ โหสกุล, นายวิชาญ มีนชัยนันท์, นายปลอดประสพ สุรัสวดี, นายวัฒนา เซ่งไพเราะ รวมทั้งอดีต ส.ส. และ ส.ก.พรรคพลังประชาชน ซึ่งย้ายสังกัดไปพรรคเพื่อไทย จำนวนหลายคน เดินทางร่วมให้กำลังใจด้วย ทั้งนี้ เมื่อสมัครเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายยุรนันท์ ได้รับหมายเลข 10 นายยุรนันท์ กล่าวว่า การตัดสินในลงรับสมัครในครั้งนี้ ไม่ได้ใช้เวลานาน เพราะมั่นใจในทีมงานที่มีความพร้อมอยู่แล้ว และตนก็มีความพร้อมทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่นกัน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการยุบพรรคพลังประชาชน สภาพจิตใจของคนในพรรคนั้นยังไม่ดีขึ้นมาก แต่ก็รักกันกว่าเดิม ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางราย ส่งเสียงสนับสนุน หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอีกคนหนึ่งในตอนแรกนั้น อาจจะเป็นเพราะยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะส่งผู้ใดลงสมัคร แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเป็นตน ก็เลยคิดว่าคนในพรรคก็น่าจะสนับสนุน ส่วนกรณีที่ได้เบอร์ 10 เช่นเดียวกับนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้สมัครฯ หมายเลข 10 เมื่อครั้งที่แล้ว ก็รู้สึกดีใจที่ได้เบอร์นี้ เพราะจะได้เหมือนเป็นการส่งต่องานของนายประภัสร์ ต่อไป แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นเบอร์นี้ จากนั้นนายยุรนันท์ ได้ขึ้นไปสักการะศาลเจ้าจีน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาลาว่าการกรุงเทพมหานครพร้อมกล่าวด้วยว่าวันนี้มีแผนจะเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดชนะสงคราม[2]

ต่อมาเวลาประมาณ 08.45 น. นายธรรณม์ชัย รุ่งจิรโรจน์ นักธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เดินทางมายื่นใบสมัคร ได้หมายเลข 11 ตามความตั้งใจ หลังจากที่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ได้มาเพื่อจะลงสมัครแล้ว แต่ไม่สมัคร เพราะไม่ถูกโฉลกกับเลขศูนย์ พร้อมกล่าวว่า แม้เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แต่เนื่องจากเป็นคนกรุงเทพฯ มองเห็นปัญหากรุงเทพฯ จึงอยากอาสาแก้ปัญหา โดยนโยบายหาเสียงจะเห็นได้เป็นรูปธรรม เช่น งานที่อยากทำงานแรกคือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลใน กทม.ให้ทัดเทียมโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มค่าตอบแทนให้ข้าราชการ กทม.เพื่อให้มีกำลังใจในการทำงาน อย่างไรก็ตาม จะเปิดตัวช้าหรือเร็ว คิดว่าไม่เป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบอย่างใด เชื่อว่าฐานเสียงของตนจะเป็นคนที่มีความรู้ เมื่อเวลา 09.25 น. นายแก้วสรร อติโพธิ เดินทางมาถึงศาลาว่าการ กทม. และยื่นใบสมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้หมายเลข 12 ในเวลาต่อมา นายอุดม วิบูลย์เทพาชาติ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้เดินทางมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นครั้งที่ 4 โดยได้ติดเบอร์ 13 ที่เสื้อก่อนที่จะเข้ากรอกใบสมัครฯ เนื่องจากรอให้มีผู้สมัครจนครบ 12 เบอร์ ก่อนจะมาสมัคร โดยนายอุดม กล่าวว่า มาสมัครผู้ว่าฯ กทม.เป็นครั้งที่ 4 แล้วชูนโยบายท้อแท้แต่ไม่ถอย เพราะขณะนี้บ้านเมืองมีความแตกแยก แต่นโยบายที่สำคัญจำเป็นเรื่องการเดินหน้าเศรษฐกิจโดยสร้างงานสร้างเมือง สร้างความสุขและสร้างอนาคตร่วมกัน คนสุดท้ายที่เดินทางมาสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในเวลา 15.20 น. คือ นายเอธัส มนต์เสรีนุสรณ์ สังกัดพรรคสุวรรณภูมิ มี ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ หัวหน้าพรรคพร้อมทีมงานเดินทางมาด้วย โดย ร.ต.อ.นิติภูมิ กล่าวว่า กทม.เป็นเมืองใหญ่ที่ต้องมีคณะทำงาน เพราะผู้ว่าฯ เพียงคนเดียวจะสามารถดูแลประชาชนแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทั่วถึง โดยจะตั้งคณะกรรมการของผู้ว่าฯ จำนวน 5 คน แต่ละคนจะดูแลใน 10 เขต จึงจะครอบคลุมทั้ง 50 เขตของ กทม.ได้ ซึ่งนโยบายจะเน้นด้านคุณภาพการศึกษา ด้านการท่องเที่ยว และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของ กทม.ให้พัฒนาเศรษฐกิจนำความมั่งคั่งมาสู่ กทม. ฟื้นฟู กทม.ให้เรียกความมั่นใจจากทั่วโลกกลับมาเป็นเมืองชั้นนำแถวหน้า โดยใช้คำขวัญ "วิญญาณไทย ใจสากล ตัวตนเต็มไปด้วยเทคโนโลยี"

ภาพตัวอย่างป้ายหาเสียงของผู้สมัคร[แก้]

ผลสำรวจ[แก้]

สำนัก วันที่สำรวจ กลุ่มตัวอย่าง สุขุมพันธ์ ณัฏฐกรณ์ ยุรนันท์ แก้วสรร อื่น ๆ
สวนดุสิตโพล 11-16 ธ.ค. 2551 ? 42.57 37.40 13.44 3.49 3.11
สวนดุสิตโพล 18-21 ธ.ค. 2551 ? 40.95 30.63 19.03 4.79 4.60
สวนดุสิตโพล 23-25 ธ.ค. 2551 ? 40.6 29.73 20.0 5.2 4.47
สวนดุสิตโพล 26-29 ธ.ค. 2551 ? 40.7 27.31 20.15 4.77 7.07

ผลการเลือกตั้ง[แก้]

· ·
ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 11 มกราคม พ.ศ. 2552
พรรค (หมายเลข) ผู้สมัคร คะแนนนิยม ร้อยละ
พรรคประชาธิปัตย์ (2) หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร 934,602 45.41
พรรคเพื่อไทย (10) นายยุรนันท์ ภมรมนตรี 611,669 29.72
อิสระ (8) หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล 334,846 16.27
กลุ่มกรุงเทพฯ ใหม่ (12)
(สนับสนุนโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง)
นายแก้วสรร อติโพธิ 144,779 7.03
อิสระ (3) นางลีนา จังจรรจา 9,043 0.439
ทีมกรุงเทพฯ พัฒนา (1) นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล 6,017 0.292
พรรคสุวรรณภูมิ (14)
(สนับสนุนโดย ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์)
นายเอธัส มนต์เสรีนุสรณ์ 4,117 0.200
อิสระ (9) นายวิทยา จังกอบพัฒนา 3,640 0.177
อิสระ (5) นายกงจักร ใจดี 2,400 0.117
อิสระ (11) นายธรรณม์ชัย รุ่งจิรโรจน์ 2,222 0.108
อิสระ (4) นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ 1,875 0.091
กลุ่มเมตตาธรรม (6) ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ 1,431 0.070
อิสระ (7) นายอิสระ อมรเวช 922 0.045
อิสระ (13) นายอุดม วิบูลเทพาชาติ 656 0.032
บัตรดี 2,058,219 97.05
ไม่ประสงค์ลงคะแนน 46,395 2.19
บัตรเสีย 16,107 0.76
มาใช้สิทธิ 2,120,721 51.10
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,150,103 100.00

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552 ถัดไป
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2551

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2552

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2556