สิทธิมนุษยชนที่หายไปในปีที่ 3 ของคสช.

  • นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
สถานการณ์สิทธิมนุษยชน, ฮิวแมนไรท์วอทช์, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, แบรด อดัมส์, อังคณา นีละไพจิตร, กสม., HRW, Word Report 2017

ที่มาของภาพ, NICOLAS ASFOURI/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, "กรุณาช่วยเราปกป้องสิทธิมนุษยชน" ป้ายของผู้ประท้วงเรียกร้องการเลือกตั้งกล่าว (แฟ้มภาพ)

ในรอบปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้วาระแห่งชาติเรื่อง "สิทธิมนุษยชน ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งเสนอจากกระทรวงยุติธรรม โดยมีหลักการให้ส่วนราชการต่างๆ ปรับปรุงทัศนคติเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และมุ่งลดสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน

"รัฐบาลนี้มีเจตนามุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในงานปาฐกถาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อนการประกาศวาระแห่งชาติดังกล่าว

แต่ปรากฎว่าเหตุละเมิดสิทธิมนุษชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ต.ค. ของปีนี้ มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 501 เรื่องที่ส่งมายัง กสม.

ขณะที่เหตุการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี มีอาทิ

ไผ่ ดาวดิน: ติดคุกเพราะแชร์บทความ

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2559 ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559

ในเดือน ส.ค. ของปีนี้ นายจตุภัทร์ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ศาลลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เรื่องจากเขาได้รับสารภาพ และเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา บิดาและมารดาของ นายจตุรภัทร์ นำชุดครุยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาให้ลูกชายใส่ เนื่องจากเขาสำเร็จการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มข. แต่ไม่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

นายจตุภัทร์กับพ่อและแม่

ที่มาของภาพ, YATA SIMAWATTHANA

คำบรรยายภาพ, นายจตุภัทร์ใส่ชุดครุยที่พ่อและแม่นำมาให้สวมใส่

"นายจตุภัทร์คิดในแง่ว่า ยอมรับว่าข้อความบางส่วนจากบทความบีบีซีไทย มีเนื้อหาตามที่ถูก ตั้งข้อกล่าวหา แต่การแชร์บทความนั้นออกไป เพียงแสดงให้เห็นว่าต่างชาติคิดอย่างไร ไม่ได้ชี้ถูก หรือผิด หรือเห็นด้วยกับบทความนั้น ซึ่งหากเนื้อหาไม่เป็นความจริง รัฐบาลก็ชี้แจงไป" นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายจตุภัทร์ กล่าวกับบีบีซีไทย

ทนายความเปิดเผยว่า นายจตุภัทร์ตัดสินใจรับสารภาพ "โดยสมัครใจ และไม่มีแรงบีบคั้น" โดยให้เหตุผลว่า "หากสืบพยานต่อไป อาจมีผลสะเทือนในหลายเรื่อง" ซึ่งทนายมองว่าอาจสืบเนื่อง จากเนื้อหาในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับ ส่วนเรื่องการตัดสินถูกผิด เป็นเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาของศาล

การรณรงค์ให้ปล่อยตัวไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG / BBC THAI

นายจตุภัทร์ ถูกฝากขังในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น มาแล้วราว 12 เดือน นับตั้งแต่ถูกเพิกถอนประกันตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 หลังศาลมีคำพิพากษา ทำให้เหลือเวลาที่ต้องรับโทษอีก 10 เดือน

ที่ผ่านมาองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งและเครือข่ายนักวิชาการได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนายจตุภัทร์

ปริศนาการตายของ "น้องเมย"

เรื่องราวของนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังกลับเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเพียง 1 วัน ได้รับการเปิดเผยเมื่อพ่อและแม่ของเขาได้นำศพไปชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิต พบว่าอวัยวะภายในหายไปทั้งหมด

แม้ว่าภายหลังครอบครัวได้รับทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อสืบหาเหตุผลการเสียชีวิต แต่ก็ยังไม่ยอมรับผลชันสูตรที่ระบุว่านายภคพงศ์เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทำให้ครอบครัวตัดสินใจส่งร่างของนายภคพงศ์ไปผ่าชันสูตรเป็นครั้งที่สองที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

น้องเมย

ที่มาของภาพ, สุพิชา ตัญกาญจน์

คำบรรยายภาพ, นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย

อีกประเด็นหนึ่งที่ครอบครัวติดใจ คือ นายภคพงศ์และเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารถูกทำการธำรงวินัยสองกรณี เป็นเวลาสองวัน คือวันที่ 15 และ 16 ต.ค. 2560 แต่คำแถลงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของนายภัคพงศ์ ซึ่งมี พล.อ.อ.ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร เป็นประธาน ระบุว่า การตายของนายภคพงศ์ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสั่งลงโทษหรือทำร้าย อันเป็นเหตุให้เสียชีวิต

รองเสนาธิการทหารระบุว่า วันที่นายภคพงศ์เสียชีวิต เขามีอาการคล้ายโรคหอบจากอารมณ์ (hyperventilation) ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในนักเรียนเตรียมทหารช่วงหลัง เช่น มีอาการเกร็ง ชา หายใจถี่และเร็วมาก จนออกซิเจนในเลือดมีระดับเพิ่มมากขึ้น ทำให้หมดสติ สูญเสียการรู้สึก ซึ่งแพทย์บอกว่าสาเหตุหลักน่าจะเกิดจากความเครียด

ทางโรงเรียนได้นำไปส่งโรงพยาบาลนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในระหว่างนั้นมีการทำซีพีอาร์ต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ชม. แต่ไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดดังกล่าวระบุว่า ชายโครงซี่ที่ 4 ของนายภคพงศ์ที่หัก แพทย์ระบุว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอะไร แต่ก็ยังไม่ตัดกรณีการทำซีพีอาร์ที่มีการกระทำบริเวณหน้าอกเป็นเวลา 4 ชม. ออกไป

ครอบครัวตัญกาญจน์

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHRARANG/BBCTHAI

คำบรรยายภาพ, ครอบครัวตัญกาญจน์ ประกอบด้วย นายพิเชษฐ นางสุกัลยา พ่อและแม่ น.ส.สุพิชา พี่สาว เดินทางไปรับชิ้นส่วนอวัยวะ ได้แก่ กระเพาะอาหาร, สมอง และหัวใจของนายภคพงศ์ ที่สถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา

ปัจจุบันครอบครัวตัญกาญจน์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 ต่อ คณะทำงานเฉพาะที่สืบสวนและอัยการกรณีการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ และพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครนายก

"ตอนนี้หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม พึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมากที่สุด เพื่อหาหลักฐานข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้เสียชีวิต" น.ส.สุพิชา ตัญกาญจน์ พี่สาวของนายภคพงศ์ กล่าว

สิ้นสุดคดีคลิตี้: บรรทัดฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม

ในวันที่ 11 ก.ย. 2560 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีอ่านคำพิพากษาศาลฏีกากรณีคลิตี้ ทำให้คดีที่ดำเนินตั้งแต่ปี พ.ศ 2546 ยุติลงด้วยชัยชนะของชาวบ้านคลิตี้ล่างที่เรียกร้องสิทธิ์ในฐานะที่เป็นชุมชนดั้งเดิม ให้กรรมการของบริษัทเหมืองแร่ที่เข้ามาก่อความเสียหายต้องรับผิดชอบเยียวยาและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ถูกปนเปื้อนด้วยสารตะกั่วในระดับสูง

"คดีนี้เป็นบทสรุปสำหรับกรณีปนเปื้อนสารตะกั่วในลำน้ำคลิตี้ที่กาญจนบุรี ซึ่งต่อเนื่องยาวนานมา 19 ปีแล้ว และก็เป็นบทเริ่มของการใช้บรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทยว่า ผู้ใดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะนิติบุคคล หรือตัวบุคคลเองจะต้องรับผิดชอบ แม้ว่าจะมีการปิดบริษัทไปแล้ว แต่กรรมการของบริษัทนั้นก็จะต้องรับผิดชอบอยู่" สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้ก่อตั้ง "ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและการพัฒนา" ซึ่งช่วยเหลือชาวบ้านคลิตี้ทางด้านคดีมาตั้งแต่เริ่มต้นกล่าวกับบีบีซีไทย

ชาวคลิตี้

ที่มาของภาพ, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

คำบรรยายภาพ, ตัวแทนของชาวบ้านคลิตี้ล่างร่วมถ่ายภาพหน้าศาลจังหวัดกาญจนบุรีก่อนฟังคำพิพากษา

คำพิพากษาของศาลฏีกายืนตามศาลอุทธรณ์คือให้จำเลยทั้ง 7 คนจ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวบ้านผู้เสียหาย 150 คน เป็นเงินรวม 36,050,000 บาท นอกจากนี้ศาลฎีกายังตัดสินให้กรรมการของบริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) รวมทั้งผู้จัดการมรดกต้องรับผิดชอบต่อการปนเปื้อนเป็นการส่วนตัว และที่สำคัญก็คือศาลรับรองสิทธิ์ของชาวบ้าน 150 คนที่ร่วมฟ้องร้องในฐานะที่ "ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม" ตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นการรับรองสิทธิของชุมชนให้สามารถฟ้องร้องให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ได้

แม้ว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมาแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังต้องหวังให้มีการบังคับคดีเพื่อให้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้นั้นเกิดขึ้นจริงๆ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ออกมาแล้วว่ากรมควบคุมมลพิษต้องทำการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เพื่อให้กลับสู่สภาพเดิม แต่กระบวนการฟื้นฟูอย่างแท้จริงก็ยังไม่เคยเริ่มต้นขึ้นเลย

การวิสามัญฆาตกรรมของชัยภูมิ ป่าแส

ผ่านมาแล้ว 9 เดือนหลังจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมของนายชัยภูมิ ป่าแส หรือจะอุ๊ เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ โดยทหาร ซึ่งคดีนี้คงเป็นปริศนา เนื่องจากข้อมูลที่ฝ่ายต่าง ๆ ให้มีหลายจุดที่ยังขัดแย้งกัน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิเสธจะเปิดภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่น่าจะช่วยคลี่คลายข้อสงสัยได้ โดยอ้างว่าหากเปิดไปเกรงจะกระทบกับรูปคดี

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อราวสิบเอ็ดโมงของวันที่ 17 มี.ค. นายชัยภูมิพร้อมเพื่อน โดยสารรถยนต์ฮอนด้าแจ๊สสีดำไปที่ด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก่อนจะถูกทหารประจำด่านตรวจดังกล่าววิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิต

นายชัยภูมิ ป่าแส

ที่มาของภาพ, เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

ข้อมูลจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ระบุว่า นายชัยภูมิซึ่งนั่งอยู่ข้างคนขับได้ต่อสู้ขัดขืนเจ้าหน้าที่ และวิ่งหนีไปทางป้อมตำรวจ ก่อนจะถูกยิงวิสามัญฯเพื่อป้องกันตัวเนื่องจากนายชัยภูมิควักระเบิดมาจะขว้างใส่ ภายหลังพบยาบ้า 2,800 เม็ดซุกซ่อนอยู่ในหม้อกรองน้ำของรถยนต์คันดังกล่าว โดยมีการแสดงภาพนิ่งศพของนายชัยภูมินอนคว่ำหน้า โดยมีระเบิดวางอยู่ใกล้ๆ พร้อมภาพของยาบ้าที่พบอยู่ในรถยนต์มายืนยัน

แต่ข้อมูลที่พยานหรือชาวบ้านให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนัก กลับขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการระบุว่านายชัยภูมิ ซึ่งไม่มีอาวุธอยู่ในมือ ถูกซ้อม ก่อนที่จะวิ่งหนีแล้วถูกยิง

แม้ภายหลังกองทัพบกจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ขณะที่ตำรวจยืนยันว่าจะทำคดีอย่างตรงไปตรงมา แต่ท่าทีของบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐหลายคนออกมาตรงกัน คือปกป้องทหารว่าทำถูกแล้ว และชี้ว่านายชัยภูมิมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือกสม.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ช่วงเดือน มี.ค. 2560 เรียกร้องให้เร่งตรวจสอบกรณีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส

ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่า มารดาของนายชัยภูมิยืนยันว่าลูกชายไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงอยากขอความเป็นธรรมให้กับลูกชาย และอยากให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาดู เพราะคู่กรณีเป็นฝ่ายทหาร

หลังการเสียชีวิต 6 เดือน ศาลจังหวัดเชียงใหม่เริ่มไต่สวนคดีการตายของนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวชาติพันธุ์ลาหู่ เป็นนัดแรก และแม้กองทัพอ้างว่าได้ส่งภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุให้ตำรวจแล้ว แต่จนขณะนี้ยังไม่มีใครเห็นหลักฐานดังกล่าว

รัฐสลายชุมนุม จับคนค้านโรงไฟฟ้าเทพา

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ตำรวจใช้กำลัง 1 กองร้อย เข้าสกัดกั้นการชุมนุมกลุ่มประชาชนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ทำกิจกรรมเดินเท้ามาจาก อ.เทพา มายัง อ.เมือง จ.สงขลา ที่บริเวณหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา หลังจากได้เริ่มทำกิจกรรมเดินเท้าเป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร เพื่อเตรียมยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ อ.เมือง

เหตุปะทะจากการสลายการชุมนุม ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านและแกนนำถูกจับกุม 16 คน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาความผิด 3 ข้อหา ได้แก่ กีดขวางการจราจร ร่วมกันขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธ และพกพาอาวุธในพื้นที่สาธารณะ ต่อมาศาลอนุมัติให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 29 พ.ย.

กลุ่มผู้ชุมนุม

ที่มาของภาพ, Wanchai Phutthong

ภายหลังการจับกุมผู้ชุมนุม ภาคประชาสังคมได้ประณามการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ชุมนุม พร้อมยืนยันว่า กิจกรรมของกลุ่มประชาชน คัดค้านโรงไฟฟ้า ถ่านหิน เทพา อยู่ในขอบเขตการใช้สิทธิแสดงความเห็น และเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่ให้ทบทวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 3-4 ครั้งแล้ว และยังไม่เข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม หากอีไอเอยังไม่ไม่สมบูรณ์ และมีปัญหาข้อเรียกร้องอยู่ก็ต้องไปทำกันใหม่ ถึงเข้าไปสู่การตัดสินใจ ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง

อัยการสั่งไม่ฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชนภาคใต้

ตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว ที่ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ นายสมชาย หอมละออ และ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่รัฐ จากการจัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างปี 2557-2558 จนทำให้มีการรณรงค์จากทั้งองค์กรในและระหว่างประเทศผลักดันเพื่อไม่ให้เอาความครั้งนี้

รายงานระบุว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50 คนถูกซ้อมทรมานในช่วงเวลาดังกล่าว ต่างกรรม ต่างวาระกัน และการเผยแพร่ข้อมูลยังทำให้มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ด้วย

3 นักสิทธิมนุษยชน

ที่มาของภาพ, TUWAEDANIYA MERINGING/AFP/Getty Images

จนกระทั่งวันที่ 7 มี.ค. ปีนี้ พันเอกปราโมทย์ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับนักสิทธิมนุษยชนเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันการละเมิดสิทธิว่าไม่ติดใจเอาความ เนื่องจากไม่มีเจตนาให้ถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลากหลายแห่งทั่วโลกได้ออกมารณรงค์เพื่อให้กองทัพถอนฟ้องอย่างต่อเนื่อง และในเดือน มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่กองทัพได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะถอนฟ้อง ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา อัยการจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ในความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

น.ส.อัญชนา กล่าวว่า จะยังเดินหน้าเก็บข้อมูลและป้องกันการละเมิดสิทธิ์ต่อไป อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าได้เรียนรู้กลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น และเห็นว่านักสิทธิจะต้องปรับปรุงการจัดทำข้อมูลให้มีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือมากขึ้น

นอกจากนี้เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 แล้ว ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 7,000 คน แม้ว่าสถานการณ์จะลดความรุนแรงลงไปแต่ก็ยังไม่วี่แววที่จะเกิดสันติสุขขึ้น ทำให้ยังคงเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องไปอีก