“บอกไฟหม้อ” ภูมิปัญญาของคนล้านนา

dsc_9337

บ้านเหมืองกุงอยู่ในเขตตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีการทำเครื่องปั้นดินเผากันแทบทุกหลังคาเรือน จนสามารถพูดได้เลยว่าเป็นหมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาไทยโดยแท้จริง แน่นอนว่าชาวบ้านที่นี่ยึดอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลัก ถ้าเดินตามถนนคอนกรีตเล็ก ๆ ในหมู่บ้านจะพบเห็นหม้อดินเผาหลายชนิดหลายขนาด ทั้งแจกัน กระถางและอื่น ๆ ตากเรียงรายอยู่กลางลานบ้าน นอกจากนั้นใต้ถุนบ้านยังมีผู้เฒ่าผู้แก่ต่างช่วยกันตกแต่งหม้อน้ำดินเผาอย่างขะมักเขม้น

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ หม้อน้ำที่มีปากแคบ ตรงกลางปล่อง ก้นสอบและมีฝาปิด บริเวณไหล่หม้อน้ำจะมีการแกะลวดลายอย่างสวยงาม ในสมัยก่อนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากก็คือ น้ำต้น หรือ คนโท สำหรับใส่น้ำต้อนรับแขกผู้มาเยือน น้ำต้นเป็นงานเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุงที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีหลายคนบอกว่า คนล้านนาสมัยโบราณคิดสร้างน้ำต้น นั้นอาจเลียนแบบมาจากลักษระลูกน้ำเต้า ดังนั้นชื่อน้ำต้นจึงเพี้ยนมาจากน้ำเต้านั่นเอง

การปั้นบอกไฟหม้อ หรือหน่วยขี้เบ้า ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านเหมืองกุงนอกเหนือจากการปั้นน้ำต้นซึ่งชาวบ้านมีความถนัดและทำกันมากเป็นพิเศษแล้ว ในอดีตบ้านเหมืองกุงถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ดำรงอาชีพการปั้นหม้อซึ่งได้ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและถือเป็นหมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาของคนล้านนา มีการปั้นหม้อกันเกือบทั้งปีและยิ่งทำกันมากในช่วงฤดูแล้งโดยใช้ดินจากที่นาใกล้หมู่บ้าน พอทำเสร็จก็จะใส่เกวียนไปขายยังที่ต่าง ๆ จนผู้คนทั่วไปรู้จักชื่อเสียงของบ้านเหมืองกุงเป็นอย่างดีทว่าในปัจจุบันการปั้นหม้อแบบเก่าไม่สนองความต้องการของตลาดเหมือนแต่ก่อน การปรับเปลี่ยนจึงเป็นหนทางแห่งความอยู่รอด ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันไปปั้นหม้อแบบใหม่ ตามใบสั่งที่ได้มาโดยทางร้านค้าจะสั่งผลิตสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ แล้วให้ชาวบ้านผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ เช่น มีการปั้นไหขนาดใหญ่ แจกันดอกไม้ อ่างเลี้ยงปลา ฯลฯ ดังนั้นหม้อน้ำในยุคหลัง ๆ จึงมีรูปแบบแปลกใหม่ แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม บางชิ้นมีการวาดลวดลายและทาแล็กเกอร์ทับอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตามอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาคงจะไม่หมดไปจากหมู่บ้านเหมืองกุงอย่างแน่นอน เพราะชาวบ้านรู้จักการประยุกต์ให้เข้ากันสังคมปัจจุบัน ทั้งรูปแบบและการพัฒนาเทคนิคการทำตามความต้องการของตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเหมืองกุงได้ก้าวผ่านการผลิตเพื่อยังชีพมาเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้นก็ตาม ดังเช่นการทำบอกไฟหม้อในช่วงเวลาเดือนยี่เป็ง หรือ งานเทศกาลลอยกระทงของไทย

การทำบอกไฟหม้อของชาวล้านนา นับวันยิ่งจะขาดคนสานต่อ แต่ที่บ้านเหมืองกุงแห่งนี้ยังมีการทำบอกไฟหม้อซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันทำในช่วงเดียวคือ เดือนยี่เป็งเท่านั้น

dsc_9333

แม่จันติ๊บ สายคำป้อม ชาวบ้านเหมืองกุงผู้ซึ่งทำบอกไฟหม้อมาร่วม 30 ปี บอกว่า ปัจจุบันการทำบอกไฟหม้อแทบจะหายากไม่มีใครสานต่ออาชีพนี้คงมีเพียงแต่คนเฒ่าคนแก่เท่านั้นซึ่งนับวันก็ยิ่งล้มหายตายไปจากไปทุกที คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านก็ออกไปหางานที่อื่นทำหมด ทำให้บอกไฟหม้อกลายเป็นงานสำหรับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านไปแล้ว นอกเหนือจากการปั้นหม้อในช่วงเวลาปกติแล้วพอถึงเทศกาลเดือนยี่เป็งหรือวันลอยกระทงชาวบ้านก็จะช่วยกันทำบอกไฟหม้อขาย เป็นงานอดิเรกพอเลี้ยงชีวิต

บอกไฟหม้อที่แม่จันติ๊บทำมีหลายขนาดจากลูกเล็กไปจนถึงลูกใหญ่ยักษ์ กรรมวิธีการผลิตก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เริ่มจากการนำเฝ่า มาผสมกับดินไฟ ขี้เหล็ก มาด ในอัตราส่วน 2 : 1 : 1 แล้วนำไปใส่ลงในหม้อตอกอัดด้วยดินแล้วปิดหน้าด้วยกระดาษแก้ว เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำบอกไฟหม้อ จากนั้นจึงไปบอกไฟที่ทำแล้วบรรจุใส่กล่องเพื่อส่งไปจำหน่ายยังที่ต่างๆทั่วภาคเหนือ

การทำบอกไฟหม้อของชาวบ้านเหมืองกุงยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก เข็มทอง คำมามูล เล่าว่าบอกไฟหม้อที่ทำจากบ้านเหมืองกุงนั้นมีความปลอดภัย ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงสถานที่ผลิตก็มีความปลอดภัยโปร่งโล่ง รวมถึงการบรรจุผลิตภัณฑ์ก็มีความปลอดภัยสูง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าบอกไฟหม้อจึงไม่เป็นอันตรายต่อคนเล่นอย่างแน่นอน

เมื่อถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 หรือที่คนเมืองเหนือเรียกว่า “เดือนยี่เป็ง” เป็นช่วงเวลาของงานเทศกาลลอยกระทง ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือได้จัดให้มีงานประเพณียี่เป็งขึ้นอย่างยิ่งใหญ่งดงาม นอกจากนั้นแล้วในงานดังกล่าวยังมีการเฉลิมฉลองจุดพลุ ปล่อยโคมไฟ เล่นบอกไฟกันอย่างครึกครื้นสนุกสนาน ทั้งนี้เป็นเพราะงานประเพณียี่เป็งมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนล้านนามาตั้งแต่อดีตกาล ดังนั้นบอกไฟหม้อจึงเป็นส่วนหนึ่งของงานยี่เป็งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น