บทที่ 1ความรู้เรื่องสารสนเทศ

แผนบริหารการสอนประจำบทที่ 1

หัวข้อเนื้อหา
ความรู้เรื่องสารสนเทศ
1. ความหมายของคำที่เกี่ยวข้อง
2. ความสำคัญของสารสนเทศ
3. การรู้สารสนเทศ
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. อธิบายความหมายของสารสนเทศและคำที่เกี่ยวข้องได้
2. อธิบายความสำคัญของสารสนเทศได้
3. อธิบายทักษะการรู้สารสนเทศได้
วิธีสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
1.1 วิธีสอน
1.2 การบรรยายประกอบการนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์
1.3 อภิปรายร่วมกันในชั้นเรียน
1.4 กิจกรรมการเรียนการสอน
2.1 ทำแบบทดสอบก่อนเรียน
2.2 ศึกษาเอกสารประกอบการสอนประจำบท
2.3 แบ่งกลุ่มอภิปรายความหมายและความสำคัญของสารสนเทศ
2.4 สรุปเพิ่มเติมสาระสำคัญ
2.5 ทำแบบฝึกหัดท้ายบท
สื่อการเรียนการสอน
1. เอกสารประกอบการสอน
2. สไลด์มัลติมีเดียประกอบการบรรยาย
3. แบบฝึกหัดท้ายบท
การวัดผล
1. สังเกตจากการตอบคำถาม
2. สังเกตจากการแสดงความคิดเห็น
3. สังเกตจากการทำกิจกรรมกลุ่ม
4. ตรวจการทำแบบฝึกหัด

บทที่ 1
ความรู้เรื่องสารสนเทศ

เนื้อหาในบทนี้ กล่าวถึงความรู้เรื่องสารสนเทศทางด้านความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ  และความสำคัญของสารสนเทศ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจความหมาย  สามารถแยกแยะความหมายของคำที่เกี่ยวข้องได้แก่ คำว่าสารสนเทศ  สารนิเทศ  เทคโนโลยีสารสนเทศ  ระบบสารสนเทศ การรู้สารสนเทศ  และการจัดการความรู้  รวมทั้งเห็นความสำคัญของสารสนเทศที่มีต่อการศึกษา  สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ความหมายของคำที่เกี่ยวข้อง
สารสนเทศ หรือ สารนิเทศ บัญญัติมาจากคำว่า “information” ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้ได้ทั้งสองคำ   คำว่า “สารสนเทศ” มักนิยมใช้ในวงการคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และธุรกิจ    ส่วนในวงการบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ใช้คำว่า “สารนิเทศ”  ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงกล่าวถึงความหมายและความแตกต่างของทั้งสองคำดังนี้ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2538, อ้างถึงใน ประหยัด  ช่วยงาน, 2549)
       …คำว่า “สารสนเทศ” หรือ “สารนิเทศ” ซึ่งเป็นคำที่ได้ยินกันอย่างแพร่หลายในช่วง 10 ปีกว่ามานี้  เมื่อ 10 ปีก่อนได้รับเชิญไปเป็นกรรมการที่ปรึกษาของสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้มีโอกาสพิจารณาหลักสูตรวิชาที่แปลมาจากคำว่า “Information Science” ตอนนั้นเรียกว่า “สารสนเทศ” ตอนหลังเปลี่ยนเป็น “สารนิเทศศาสตร์”
         …คำว่าสารสนเทศ และ สารนิเทศ ต่างก็เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า “information”  ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้ได้ทั้ง 2 คำ ในวงการคอมพิวเตอร์ การสื่อสารและธุรกิจ นิยมใช้คำว่า “สารสนเทศ” ส่วนในวงการบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ใช้คำว่า “สารนิเทศ” ความหมายกว้าง ๆ หมายถึง ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่าง ๆ ที่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ เพื่อนำมาเผยแพร่ และใช้งานต่าง ๆ ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้า การผลิตการบริการ การบริหาร การแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคมการทหาร และอื่น ๆ…

คำว่า  สารสนเทศ  ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายกว้าง ๆ หมายถึง  “ข่าวสาร  การแสดงหรือการชี้แจงข่าวสาร ข้อมูลต่าง ๆ” (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542)  ส่วนนักวิชาการในวงการบรรณารักษศาสตร์และวงการคอมพิวเตอร์ได้ให้ความหมายของคำว่า  สารนิเทศ และ สารสนเทศ  ดังนี้
ในวงการบรรณารักษศาสตร์ให้ความหมายคำว่า  สารนิเทศ  หมายถึง  ข่าวสาร  ข้อมูล  ความรู้  ข้อเท็จจริง   ความคิดที่ได้มีการบันทึกไว้ในสื่อ  หรือทรัพยากรสารนิเทศแบบต่าง ๆ  ซึ่งบุคคลสามารถรับรู้ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง  เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามต้องการ  (พวา  พันธุ์เมฆา,  2535) 
ในวงการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศให้ความหมายคำว่า  สารสนเทศ คือ ผลสรุปที่ได้จาก การนำข้อมูลมาประมวล ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสรุปทางสถิติ การเปรียบเทียบ การจำแนก หรือ จัดกลุ่ม ฯลฯ (ครรชิต มาลัยวงศ์,  2541)
จากความหมายดังกล่าวพิจารณาได้ว่า สารนิเทศ หรือ สารสนเทศ มีความหมายเหมือนกัน แต่การอธิบายความหมายแตกต่างกันที่มุมมอง  ทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ให้ความหมายในด้านการบันทึก จัดเก็บและการเผยแพร่เพื่อใช้ประโยชน์  ส่วนทางด้านคอมพิวเตอร์ให้ความหมายในด้านที่มา  การเกิด หรือการสร้างสารสนเทศ
ที่มาของสารสนเทศเกิดจากการประมวลผลข้อมูลซึ่งได้แก่  การคำนวณ  การเปรียบเทียบ การเรียงลำดับ  การวิเคราะห์  และการสรุปผล
การประมวลผลด้วยการคำนวณ   มักจะกระทำกับข้อมูลที่เป็นตัวเลข  สารสนเทศที่ได้จากการคำนวณสามารถนำมาอธิบายตีความหมาย  และนำไปใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ตัวอย่างเช่น  ข้อมูลตัวเลขขนาดสัดส่วน น้ำหนัก หรือความสูงของประชากร เมื่อนำมาประมวลผลด้วยการคำนวณหาค่าเฉลี่ย  แล้วนำค่าเฉลี่ยไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์  จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานของประชากรในกลุ่มนั้น    ค่าเฉลี่ยที่ได้จากการคำนวณถือว่าเป็นสารสนเทศ
การประมวลผลด้วยการเปรียบเทียบจะทำให้เกิดสารสนเทศที่อธิบายได้ว่า สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบนั้นเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร   ซึ่งจะช่วยให้ตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ดีกว่าไปใช้ประโยชน์   ตัวอย่างเช่น   ผลการเปรียบเทียบการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบปกติกับการเรียนการสอนทางไกลผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต    จะทำให้ได้ข้อค้นพบที่มีทั้งข้อดีและข้อด้อยของการเรียนการสอนทั้งสองรูปแบบนั้น    ข้อดีและข้อด้อยซึ่งได้จากการนำข้อมูลมาเปรียบเทียบถือว่าเป็นสารสนเทศ
การประมวลผลด้วยการนำข้อมูลจำนวนหนึ่งมาเรียงลำดับ จะทำให้มองเห็นแนวโน้มหรือทำนายการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลนั้นได้ เช่น การแสดงข้อมูลราคาหุ้นขึ้นลงในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกราฟหรือแผนภูมิ   ประกอบกับการวิเคราะห์บริบทสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในขณะนั้น   จะทำให้ได้สารสนเทศที่อธิบายหรือคาดคะเนได้ว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มไปในทิศทางใด
การวิเคราะห์ข้อมูล  เป็นอีกวิธีหนึ่งของการประมวลผล   ซึ่งมักใช้ในกระบวนการค้นคว้าวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบจากเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นปัญหา  ด้วยการนำข้อมูลจำนวนหนึ่งมาแยกแยะแจกแจง  ตีความหมาย ออกมาเป็นคำตอบของประเด็นปัญหาที่สงสัย    ได้คำตอบที่อธิบายเรื่องราวข้อค้นพบที่เป็นประโยชน์ต่องานวิชาการและการนำไปใช้งานด้านต่าง ๆ ข้อค้นพบซึ่งเป็นผลมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลถือว่าเป็นสารสนเทศ
การสรุปเป็นวิธีการประมวลผลที่ใช้กับการรวบรวมข้อมูลเรื่องราวข่าวสารจากแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แหล่ง  โดยจับประเด็นที่สำคัญและตรงกับความต้องการ แล้วนำมาสรุปเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การทำบทสรุปสำหรับผู้บริหารเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนทำธุรกิจ เป็นต้น
ในการอธิบายความหมายและที่มาของสารสนเทศดังกล่าว   จะเห็นว่าความหมายของสารสนเทศเกี่ยวข้องกับคำสำคัญ 3 คำคือ  ข้อมูล  การประมวลผล  และการใช้ประโยชน์  การประมวลผลโดยทั่วไปมี 5 วิธีคือ การคำนวณ  เปรียบเทียบ  เรียงลำดับ  วิเคราะห์  และสรุปผล  จึงกล่าวได้ว่า   สารสนเทศคือข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลและนำไปใช้ประโยชน์ได้  ซึ่งแสดงเป็นภาพได้ดังภาพที่ 1.1

ภาพที่ 1.1  ที่มาของสารสนเทศ

สรุปได้ว่า สารสนเทศ คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็น  หรือประสบการณ์ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์  รูปภาพ  เสียง ที่ผ่านกระบวนการประมวลผล  และบันทึกไว้อย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการในสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น  หนังสือ  วารสาร  หนังสือพิมพ์ วีดีโอ  ซีดีรอม ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ   เพื่อนำออกเผยแพร่ และใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหาร  การบริการ  การผลิต  การศึกษา  การแพทย์สาธารณสุข  ธุรกิจการค้า  การคมนาคม  และอื่น ๆ
นอกจากนี้มีคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ ได้แก่
“เทคโนโลยีสารสนเทศ” (information technology) หมายถึง วิธีการและอุปกรณ์เครื่องมือที่นำมาใช้กับสารสนเทศทั้งทางด้านการประมวลผลข้อมูล  การจัดเก็บ  การค้นคืน  การเผยแพร่  และการนำไปใช้ประโยชน์      ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการประมวลผล  จัดเก็บและค้นคืนก็คือ คอมพิวเตอร์และโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล     ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้ในการเผยแพร่ได้แก่เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารต่าง ๆ เช่น  วิทยุ โทรทัศน์  โทรศัพท์  ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  รวมทั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
“ระบบสารสนเทศ”  (information system)  ในทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศหมายถึง  ระบบจัดเก็บข้อมูลในด้านต่าง ๆ เอาไว้ แล้วนำข้อมูลมาประมวลให้เป็นสารสนเทศ เช่น ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (management information system หรือ MIS)  ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร (executive information system) หรือ EIS)  ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (decision support system หรือ DSS)   ระบบเหล่านี้ได้รับการพัฒนา และใช้กันมากในวงการบริหารจัดการทั้งทางภาคธุรกิจและเอกชน (ครรชิต มาลัยวงศ์,  2541)       ส่วนคำว่าระบบสารสนเทศในทางบรรณารักษ์และนักเอกสารสารสนเทศนั้น หมายถึง ระบบจัดเก็บและค้นคืนทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งได้แก่ ระบบจัดเก็บและค้นคืนหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์  โสตทัศนวัสดุอื่น ๆ สำหรับให้ผู้ค้นคว้าสืบค้นเรื่องที่ต้องการได้โดยสะดวกรวดเร็ว
“การจัดการความรู้” บัญญัติมาจากคำว่า “knowledge management” หรือ KM คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือในเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรหรือชุมชนมีความสามารถในการแข่งขัน 
 ประเด็นที่สำคัญของการจัดการความรู้ก็คือ ทำอย่างไรให้ความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคลถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  สามารถสืบทอดและปรับปรุงเพิ่มเติมได้ไม่สิ้นสุด   ในกระบวนการจัดการความรู้จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรม 5 ประการคือ  การหา  การสร้าง  การสืบทอด   การแลกเปลี่ยนและการประยุกต์ใช้   แต่กิจกรรมที่เป็นประเด็นหลักสำหรับผู้จัดการความรู้ก็คือ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างบุคคล   และการพยายามที่จะทำให้ความรู้ที่ฝั่งลึกอยู่ในตัวบุคคลถ่ายทอดออกมาเป็นสารสนเทศ ซึ่งอาจเป็น ลายลักษณ์อักษร ข้อความ  ภาพและเสียงเก็บรวบรวมไว้ในสื่อต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย
 การจัดการความรู้จะให้ความสำคัญกับความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคล  โดยถือว่าความรู้เป็นทรัพย์สินและเป็นทุนทางปัญญาที่มีค่า  ดังนั้นในสังคมความรู้จึงมุ่งเน้นการจัดการความรู้เพื่อให้เกิดทุนทางปัญญา
การสร้างความรู้ในตัวบุคคล เป็นกระบวนการที่สัมพันธ์ต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการแสวงหาข้อมูล  มาประมวลผลทำให้เกิดสารสนเทศ   เมื่อทำความเข้าใจสารสนเทศจะก่อให้เกิดความรู้   และการรู้จักใช้ความรู้จะก่อเกิดเป็นปัญญา   ดังแสดงภาพที่ 1.2   

ภาพที่ 1.2  กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเกิดปัญญา

ความสำคัญของสารสนเทศ
มีคำกล่าวถึงความสำคัญของสารสนเทศว่า “สารสนเทศคืออำนาจ” (information is power)   หมายถึง ผู้ที่มีสารสนเทศหรือได้รับสารสนเทศที่มีคุณค่าและทันสมัย  มีความต่อเนื่องทันเหตุการณ์  และสามารถใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้นั้นย่อมมีพลังหรือมีอำนาจ ได้เปรียบผู้อื่นในทุก ๆ ด้าน
ในสังคมข่าวสาร หรือสังคมสารสนเทศ (information society) จำเป็นต้องใช้สารสนเทศ  เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องที่ตนเกี่ยวข้อง  และนำความรู้ความเข้าใจมาตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ทันเวลากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม  ความสำคัญของสารสนเทศจึงไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษา  นักวิชาการ แต่มีความสำคัญกับผู้คนในสังคมทุกอาชีพ  สารสนเทศนอกจากมีความสำคัญต่อตัวบุคคลแล้ว ยังมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่าง ๆ  ดังนี้
1. ความสำคัญด้านการศึกษา    การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำช่วยเหลือ  และกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  ส่งผลให้สารสนเทศมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษา   
สารสนเทศที่ดีมีคุณค่าและทันสมัย จะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ จำเป็นต้องใช้สารสนเทศที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ถูกต้องจากหลายแขนงวิชามาพัฒนาให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมาได้
2. ความสำคัญด้านสังคม   สารสนเทศช่วยพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์  ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพส่วนบุคคลให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข   อีกทั้งช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต   เราใช้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการประกอบอาชีพ  การป้องกันและแก้ไขปัญหาชีวิต    สารสนเทศช่วยขยายโลกทัศน์ของผู้ได้รับให้กว้างขวาง   สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษยชาติ  ช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
3. ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ   สารสนเทศมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจบนฐานความรู้ (knowledge-based economy)  หน่วยงานหรือผู้ประกอบการธุรกิจให้ความสำคัญกับ  “การจัดการความรู้”  (knowledge management)  เพื่อรักษาองค์ความรู้ขององค์กรไว้    สารสนเทศด้านธุรกิจการค้าจึงถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการแข่งขัน  ทั้งนี้เพราะสารสนเทศช่วยประหยัดเวลาในการผลิต  ลดขั้นตอนการลองผิดลองถูก  อีกทั้งช่วยให้องค์กรได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ตามความต้องการของตลาด
นโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย    ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสารสนเทศ     จึงมุ่งปรับฐานเศรษฐกิจไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานความรู้   มีการสร้างความพร้อมและความรอบรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และพัฒนานวัตกรรมของตนเองอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  (คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.),  2546)
4. ความสำคัญด้านวัฒนธรรม    สารสนเทศเป็นรากฐานที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าของอารยธรรม   สารสนเทศช่วยสืบทอด ค่านิยม ทัศนคติ  ศิลปะ และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันดีงามของชาติ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความสามัคคี  ความมั่นคงในชาติ 

การรู้สารสนเทศ
การรู้สารสนเทศเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการศึกษารายวิชาสารสนเทศและการศึกษาค้นคว้า  ดังนั้นรายวิชานี้จึงได้กำหนดหลักสูตรให้ผู้เรียนได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติเพื่อให้มีความสามารถ  และมีคุณลักษณะของผู้รู้สารสนเทศ  ซึ่งนักวิชาการได้ให้ความหมาย และคุณลักษณะของผู้รู้สารสนเทศ  ดังนี้
“การรู้สารสนเทศ”  บัญญัติมาจากคำว่า “information literacy”  หมายถึง     (ศรีเพ็ญ  มะโน, 2536)  ความสามารถ และทักษะในการแสวงหาและเข้าถึงสารสนเทศโดยใช้เครื่องมือคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่    ลักษณะของผู้รู้สารสนเทศ  จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการตั้งคำถามและระบุสารสนเทศที่ต้องการได้ด้วยตนเอง   สามารถคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล  สามารถเลือกและประเมินสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งมีความสามารถในการสังเคราะห์  วางแผนการศึกษาค้นคว้า  และอธิบายหรือนำเสนอสารสนเทศที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าได้อย่างเหมาะสม  
ฟอร์เธียร และคณะ (Fortier, 1998)  ให้ความหมายของการรู้สารสนเทศว่า  การรู้สารสนเทศและเทคโนโลยีเป็นความสามารถเฉพาะบุคคลในการใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการทำงานด้วยตนเองหรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น  ความสามารถในการใช้เครื่องมือ  แหล่งข้อมูล  กระบวนการและระบบการสืบค้นข้อมูล  การประเมินคุณค่าสารสนเทศ  ตลอดจนความสามารถในการใช้สารสนเทศเหล่านั้นในการแก้ปัญหา  การติดต่อสื่อสาร  การตัดสินใจ    รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้  ผลิตภัณฑ์ หรือระบบใหม่ ๆ
เคอร์ราน (Curran,  1990, 349  อ้างถึงใน ศรีเพ็ญ  มะโน, 2536) ได้กล่าวถึงลักษณะของผู้รู้สารสนเทศว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถดังนี้
1. รู้ได้ว่าสารสนเทศมีประโยชน์อย่างไร
2. รู้ได้ว่าจะค้นหาสารสนเทศได้จากที่ใด
3. สามารถสืบค้นสารสนเทศ
4. สามารถอธิบาย  จัดระเบียบ และสังเคราะห์สารสนเทศ
5. สามารถใช้และนำเสนอสารสนเทศ
สมาคมการศึกษาบรรณารักษ์วิสคอนซิน (Wisconsin Association of Academic Librarians, 2006)  กำหนดเกณฑ์มาตรฐานของผู้รู้สารสนเทศและกล่าวถึงความสำคัญของการรู้สารสนเทศว่า

…ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว   การศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะต้องช่วยให้ผู้เรียนรู้สารสนเทศ เกิดความสำนึกและเห็นคุณค่าในการใช้สารสนเทศเพื่อพัฒนาตัวเอง อาชีพ และการศึกษา   การรู้สารสนเทศช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึง  ประเมินคุณค่า  จัดระบบ  สังเคราะห์และรวบรวมสารสนเทศจากแหล่งและทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลายได้  การรู้สารสนเทศจะนำไปสู่การมีนิสัยรักการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ตลอดชีวิต… 

ความสามารถของผู้รู้สารสนเทศตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมการศึกษาบรรณารักษ์วิสคอนซิน  จะต้องมีความสามารถ 10 ประการ ได้แก่
1. สามารถแยกแยะและอธิบายความต้องการเกี่ยวกับสารสนเทศที่จำเป็นในการแก้ปัญหา
2. สามารถวินิจฉัย แยกแยะและเลือกใช้แหล่งสารสนเทศได้อย่างเหมาะสม
3. สามารถวางแผนการสืบค้นสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. สามารถอธิบาย วิเคราะห์ผลการสืบค้นและเลือกแหล่งสารสนเทศที่ตรงกับความต้องการ
5. สามารถระบุแหล่งและค้นคืนสารสนเทศในเรื่องที่ต้องการจากแหล่งสารสนเทศต่าง ๆ ได้
6. สามารถประเมินคุณค่าและเลือกใช้สารสนเทศได้
7. สามารถจัดระบบ  สังเคราะห์ รวบรวมและประยุกต์สารสนเทศไปใช้ประโยชน์ได้
8. สามารถกำหนดแนวทางแสวงหาสารสนเทศด้วยตนเองได้
9. มีความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งและทรัพยากรสารสนเทศ ทั้งในด้านองค์ประกอบ  กระบวนการผลิต สถาบันบริการและการเผยแพร่สารสนเทศ
10. มีจริยธรรมในการใช้และเผยแพร่สารสนเทศ
ไอเซนเบิร์ก และ เบอร์โควิทซ์  (Eisenberg & Berkowitz, 1990, cited by
Chowdhury & Chowdhury, 2001)   ได้กล่าวถึง  6  ขั้นตอนในการแสวงหาสารสนเทศ (The “Big Six” information skills) ที่ผู้รู้สารสนเทศจะต้องปฏิบัติให้เกิดทักษะในการค้นคว้าค้นคว้าได้แก่  
1. ทักษะในการกำหนดเรื่องที่จะค้น
การพิจารณาเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าจะค้นหาสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใด   สารสนเทศอะไรบ้างที่ต้องการ    เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจประเด็นสำคัญที่ต้องการจะศึกษาให้ชัดเจน   ประเด็นสำคัญเหล่านั้นมีปัญหาข้อสงสัยอะไรบ้าง  นำปัญหาข้อสงสัยมาตั้งเป็นโจทย์คำถามให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่จะศึกษา (ใคร?  ทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไร?  อย่างไร?  ทำไม?)   คัดเลือกหัวข้อคำถามที่ประสงค์จะศึกษาค้นคว้า  ด้วยการพิจารณาตัวเองว่าต้องการจะค้นหาคำตอบในเรื่องใด  ในการพิจารณาคัดเลือกให้ใช้คำถาม KWL คือ  ฉันรู้อะไร (What I know?)  มีอะไรอีกบ้างที่ฉันควรรู้ (What I would like to know?) อะไรที่ฉันรู้แล้ว (What I have already learnt?)  เมื่อพิจารณาเรื่องที่จะศึกษาได้ชัดเจนดีแล้ว   ขั้นตอนต่อมาคือการกำหนดสารสนเทศที่ต้องการค้นหา  และเตรียมวางแผนการสืบค้น  วิธีปฏิบัติเพื่อพิจารณาเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าแสดงเป็นขั้นตอนในภาพที่ 1.3 

ภาพที่ 1.3  กระบวนการพิจารณาเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า
ที่มา : Chowdhury and Chowdhury, 2001.

2. ทักษะการวางแผนกลยุทธ์การสืบค้น
เมื่อทำความเข้าใจเรื่องที่ต้องการจะศึกษาค้นคว้าชัดเจนดีแล้ว  ขั้นตอนต่อมาคือการวางแผนการสืบค้นสารสนเทศ  ในขั้นตอนนี้ผู้ค้นคว้าจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งสารสนเทศ  ซึ่งมีทั้งแหล่งที่เป็นเอกสาร  สถาบัน  หรือเป็นบุคคลผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ   และรู้จักการใช้เครื่องมือสืบค้นสารสนเทศต่าง ๆ เช่น โอแพค  อินเทอร์เน็ต  ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  ดัชนีและสาระสังเขป  ผู้ค้นคว้าจะต้องเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์  วิธีการใช้คำสั่งในการสืบค้นและค้นคืนข้อมูล  แนวทางปฏิบัติเพื่อกำหนดแผนการสืบค้นสารสนเทศแสดงเป็นลำดับขั้นตอนในภาพที่ 1.4   
ภาพที่ 1.4   กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนสืบค้นสารสนเทศ
ที่มา : Chowdhury and Chowdhury, 2001.

3.  ทักษะการค้นหาและเข้าถึงสารสนเทศ
เมื่อกำหนดแผนการสืบค้นสารสนเทศแล้ว ก็ถึงขั้นตอนลงมือปฏิบัติการค้นหา    สารสนเทศอาจจะมีอยู่ในทรัพยากรสารสนเทศที่แตกต่างกันไป เช่นเป็นทรัพยากรตีพิมพ์ ได้แก่ หนังสือ  วารสาร หนังสือพิมพ์ หรือเป็นทรัพยากรไม่ตีพิมพ์เช่น วีดิโอ ซีดีรอม ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ต ทรัพยากรสารสนเทศเหล่านี้มีวิธีการค้นหาและเข้าถึงแตกต่างกันไป    ดังนั้นผู้ค้นคว้าจึงต้องเรียนรู้และฝึกฝนการใช้โปรแกรมและเครื่องมือในการสืบค้นสารสนเทศที่แตกต่างกัน   อีกทั้งต้องรู้ว่าจะได้สารสนเทศประเภทใดจากการใช้เครื่องมือเหล่านั้น  เช่น  การค้นโอแพคของห้องสมุดจะได้รายการบรรณานุกรม   การค้นจากฐานข้อมูลออฟไลน์ในซีดีรอมหรือฐานข้อมูลออนไลน์จะได้สาระสังเขป หรืออาจเป็นเอกสารฉบับเต็ม (full text)     ค้นจากเวิร์ดวายเว็บ (www)ในอินเทอร์เน็ตจะได้ข่าวสาร บทความที่ทันสมัย  เป็นต้น    แหล่งสารสนเทศที่กล่าวนี้มีวิธีการเข้าถึงสารสนเทศที่แตกต่างกันในรายละเอียด   เพื่อให้เกิดทักษะและสามารถเข้าถึงสารสนเทศที่มีอยู่อย่างหลากหลายได้โดยสะดวกและรวดเร็ว  ผู้เรียนจึงต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ  
แนวทางปฏิบัติในการค้นหาและเข้าถึงสารสนเทศแสดงเป็นลำดับขั้นตอนในภาพที่ 1.5

ภาพที่ 1.5  แนวทางปฏิบัติในการค้นหาและเข้าถึงสารสนเทศ
ที่มา : Chowdhury and Chowdhury, 2001

4.  ทักษะการใช้สารสนเทศ
สารสนเทศที่ค้นหาได้อาจมีรูปแบบและวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกัน เช่นอาจเป็นข้อความ  ตัวเลข หรือตาราง  สารสนเทศบางอย่างอาจเป็นภาพวาด ภาพถ่าย  เสียง  วีดิโอ  ผู้ค้นคว้าจะต้องเรียนรู้ว่าจะใช้สารสนเทศนั้นอย่างไร  รวมทั้งฝึกฝนการใช้ทรัพยากรสารสนเทศที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะให้เกิดทักษะความชำนาญ เช่น  แผนที่  ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  สื่อมัลติมีเดีย  เป็นต้น
5.  ทักษะการสังเคราะห์สารสนเทศ
การสังเคราะห์สารสนเทศ หมายถึง จัดกลุ่ม และสร้างความสัมพันธ์ของสารสนเทศ การกลั่นกรอง และย่อความสารสนเทศในแต่ละเรื่องหรือแต่ละแนวคิด  ที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วจากหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งแหล่ง   แล้วนำเสนอใหม่ในรูปลักษณ์ที่มีการปรับเค้าโครงใหม่ทั้งหมด    ซึ่งเค้าโครงใหม่ที่สร้างขึ้นมาต้องนำประเด็นที่มีความสัมพันธ์กันมาเชื่อมโยงกัน   จากเรื่องที่กว้างไปยังเรื่องที่เฉพาะเจาะจง  แนวทางปฏิบัติในการสังเคราะห์สารสนเทศแสดงเป็นลำดับขั้นตอนในภาพที่ 1.6
 ภาพที่ 1.6  แนวทางปฏิบัติในการสังเคราะห์สารสนเทศ
  ที่มา : Chowdhury and Chowdhury, 2001

6.  ทักษะการประเมินสารสนเทศ
สารสนเทศที่ค้นได้จากแหล่งต่าง ๆ มีทั้งที่ตรงกับความต้องการและไม่ตรงกับความต้องการ  ความถูกต้อง  ความทันสมัย และความน่าเชื่อถือของสารสนเทศมีความแตกต่างกัน   จึงต้องประเมินเพื่อคัดเลือกสารสนเทศที่มีคุณค่า และนำไปใช้งานได้อย่างแท้จริง  ดังนั้นผู้เรียนจะต้องฝึกฝนให้สามารถพิจารณาคัดเลือกสารสนเทศที่ดีมีคุณค่าและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม  รายละเอียดการประเมินสารสนเทศศึกษาในบทที่ 7

สรุป
“สารสนเทศ” หรือ “สารนิเทศ” หมายถึงข้อมูลข่าวสาร  ความรู้ ข้อเท็จจริง ความคิด ที่ได้มีการประมวลผลแล้วมาบันทึกรวบรวมไว้ในสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ วีดิโอ  ซีดีรอม ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ   เพื่อนำออกเผยแพร่ และใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ 
คำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่  “เทคโนโลยีสารสนเทศ” หมายถึงเครื่องมือและวิธีการที่นำมาใช้กับสารสนเทศ  “ระบบสารสนเทศ” หมายถึง ระบบจัดเก็บข้อมูลในด้านต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาประมวลให้เป็นสารสนเทศ  “การจัดการความรู้”   หมายถึง กระบวนการค้นหา  การสร้าง  การสืบทอด   การแลกเปลี่ยนและการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน และนำความรู้มาเพิ่มพูนพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด 
สารสนเทศมีความสำคัญต่อการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม  ช่วยพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพ สามารถดำเนินชีวิตร่วมอยู่กับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข   เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจบนฐานความรู้    เป็นรากฐานที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าของอารยธรรม  ช่วยสืบทอดค่านิยม ทัศนคติ  ศิลปะ และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันดีงามของชาติ
การรู้สารสนเทศ   คือความสามารถ และทักษะในการแสวงหาและเข้าถึงสารสนเทศ  ผู้รู้สารสนเทศคือผู้ที่มีทักษะ 6  ประการได้แก่ 1) ทักษะในการกำหนดเรื่องที่จะค้น 2) ทักษะการวางแผนกลยุทธ์การสืบค้น  3) ทักษะการค้นหาและเข้าถึงสารสนเทศ  4) ทักษะการใช้สารสนเทศ  5) ทักษะการสังเคราะห์สารสนเทศ และ 6) ทักษะการประเมินสารสนเทศ

คำถามท้ายบท
1. สารสนเทศ หรือสารนิเทศ หมายถึงอะไร จงอธิบาย
2. การประมวลผลที่ทำให้เกิดสารสนเทศมีอะไรบ้าง  จงอธิบาย
3. เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึงอะไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง
4. ระบบสารสนเทศ หมายถึงอะไร จงอธิบาย
5. การจัดการความรู้  หมายถึงอะไร จงอธิบาย
6. ข้อมูล  สารสนเทศ  ความรู้ และปัญญามีความสัมพันธ์กันอย่างไร จงอธิบาย
7. สารสนเทศมีความสำคัญอย่างไร จงอธิบายแสดงความคิดเห็น
8. ท่านได้ใช้สารสนเทศในเรื่องใดบ้าง  จงอธิบาย
9. การรู้สารสนเทศ  หมายถึงอะไร จงอธิบาย
10. ทักษะการรู้สารสนเทศ 6 ทักษะ ได้แก่อะไรบ้าง  จงอธิบาย

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.).  (2546, มีนาคม).  แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย  พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2550. [Online].  Available : http://www.eppo.go.th/admin/kpr/ceo/pdf/strategy.pdf

ครรชิต มาลัยวงศ์.  (2541, พฤศจิกายน).  “ความรู้เรื่องสารสนเทศสำหรับนักวิจัย,”  ใน  เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “สารสนเทศสำหรับนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”.  กรุงเทพฯ : ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี   สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับบริติชเคาน์ซิล และชมรมห้องสมุดเฉพาะ.

พวา  พันธุ์เมฆา.  (2535).  สารนิเทศกับการศึกษาค้นคว้า.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  (2547).  การรู้สารสนเทศ =Information literacy.  [Online].  Available : (http://vdo.kku.ac.th/  mediacenter/mediacenter-uploads/libs/html/1071/Glossary/Evaluate.htm)

แม้นมาศ  ชวลิต, คุณหญิง.  (2530).  “ระบบสารสนเทศแห่งชาติ,”  ใน การสร้างสังคมการอ่านและการใช้สารสนเทศ : เอกสารวิชาการ   จัดพิมพ์เนื่องในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2530, (หน้า 88-100).  กรุงเทพฯ : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย.

ราชบัณฑิตยสถาน.  (2542).  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.

ศรีเพ็ญ  มะโน.  (2536).  การสร้างแบบจำลองหลักสูตรวิชาการรู้สารนิเทศสำหรับนิสิตระดับปรัญญาตรี  โดยใช้วิธีการเชิงระบบ.  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์).  กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร.  ถ่ายเอกสาร.

อาภากร  ธาตุโลหะ. (2547). ทรัพยากรสารสนเทศเพื่อการค้นคว้า.  ชลบุรี : พี.เค. กราฟฟิค พริ้นต์

Chowdhury, GG and Chowdhury, Sudatta.  (2001).  Searching CD-ROM and online information sources.  London : Library Association.

Fortier, John D., et. al.  (1998).  Wisconsin’s model academic standards for infromation and technology literacy.  Madison, WI : Wisconsin Department of Public Instruction

Wisconsin Association of Academic Librarians. (1998, October 9).  Information literacy competencies and criteria for academic libraries in Wisconsin.   [Online].  Available : http://www.wla.lib.wi.us/waal/infolit/ilcc.html
 

ใส่ความเห็น