“น้ำพระราชหฤทัย” ในหลวง 40ปี “รพ.สมเด็จพระยุพราช” บำบัดทุกข์บำรุงสุข “ปวงราษฎร์”

นับเป็นเวลามากกว่า 4 ทศวรรษ ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกำเนิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงมีพระราชปณิธานหมายมั่นให้ราษฎรในถิ่นทุรกันดารมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับโอกาสทางการแพทย์เช่นเดียวกับคนเมือง

จวบจนบัดนี้ ประชาชนนับล้านในชนบทได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น

Advertisement

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2518-2519 ช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเนื่องมาจากภัยคอมมิวนิสต์ ไม่เพียงแต่เผชิญกับความไม่สงบเท่านั้น แต่ประชาชนในพื้นที่สีแดงยังไม่อาจเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ ต้องเดินทางไกล ทำให้รัฐบาลโดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คิดที่จะสร้างโรงพยาบาลขึ้นในถิ่นทุรกันดาร เพื่อเป็นของขวัญของคนไทยถวายแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช”

แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ด้วยความจงรักภักดี ทำให้รัฐบาลได้รับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศถึง 155 ล้านบาทเศษ ทั้งยังได้ที่ดินอีก 81 แปลง หลังจากนั้นจึงได้จัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นในปี พ.ศ.2520 เพื่อสนับสนุนการทำงาน การนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ ก่อนจะเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ขึ้น 21 แห่งทั่วประเทศไทย

Advertisement

4 ทศวรรษ รพ.สมเด็จพระยุพราช

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ กรรมการและเลขาธิการ เปิดเผยว่า ตลอดเวลา 4 ทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตลอด นับแต่ทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ พระองค์พระราชทานพระราชกระแส เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2529 ให้คณะทำงานเป็นแนวทางว่า “ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน”

 


จากพระราชกระแสได้เป็นสิ่งที่คณะทำงานและโรงพยาบาลทั้ง 21 แห่งยึดมั่นอยู่เสมอ นพ.จักรธรรมเผยอีกว่า หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริกับคณะทำงานอีกครั้งว่า ทรงไม่อยากให้เพิ่มจำนวนโรงพยาบาล โดยทรงอยากให้พัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่ง ให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้มากกว่า โรงพยาบาลจึงเน้นพัฒนาคุณภาพจนเป็นแม่ข่ายให้กับ รพ.ชุมชนอื่น โดยเมื่อขึ้นทรงราชย์แล้ว พระองค์มีพระราชกระแสอีกครั้งว่าให้นำพาโรงพยาบาลยุพราชออกไปนอกรั้วโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การทำงานของทีมแพทย์จึงต้องเป็นเชิงรุก ออกไปให้ข้อมูลกับชาวบ้าน หลายแห่งไม่ขยายใหญ่ขึ้น แต่ให้เตียงที่บ้านชาวบ้านเป็นเตียงพยาบาลแทน นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่เสมอ ทำให้คนทำงานก็มีความสุขที่จะทำงานกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

มิเพียงเท่านั้นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงเยี่ยมอีกหลายโอกาส เริ่มต้นจากเสด็จฯไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองครบทั้ง 21 แห่ง รวมถึงเสด็จฯไปทรงเปิดโรงพยาบาลทั้ง 21 แห่ง แม้ว่าแต่ละแห่งจะอยู่ห่างไกล เสี่ยงภัย ทุรกันดาร จวบจน

ช่วงปี พ.ศ.2529-2530 พระองค์ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมกิจการโรงพยาบาลทุกแห่งเพื่อพระราชทานกำลังใจ และยังเสด็จฯไปทรงตรวจเยี่ยมอีกหลายครั้ง รวมถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วย

นพ.จักรธรรมเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระราชหฤทัยกับการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอย่างแท้จริง โดยทรงติดตามและทรงทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละแห่ง ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างแท้จริงว่าโรงพยาบาลที่ห่างไกลขาดแคลนสิ่งใด และยังพระราชทานกำลังใจให้เสมอ ครั้งหนึ่งได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้อำนวยการแต่ละแห่งเข้าเฝ้าฯถวายรายงาน พระองค์ทรงซักถามแต่ละแห่งเป็นภาพที่ประทับใจยิ่งนัก นอกจากนี้ยังพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ให้กับโรงพยาบาลแต่ละแห่งเป็นการส่วนพระองค์ สร้างความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง

“ทุกวันนี้ การดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชก้าวไกลขึ้นมาก จากต้องรักษากับหมอป่า กว่าจะถึงเมืองก็อาจเสียชีวิต หลายแห่งขยายใหญ่ขึ้น รวมถึงเรายังสร้างโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐานในระดับสากล เป็นโรงพยาบาลอำเภอแห่งแรกที่ได้ ISO ครบทุกแห่ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์” นพ.จักรธรรมเผย

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์

พระกรุณาฯช่วยชีวิตชาวด่านซ้าย

 

นพ.ภักดี สืบนุการณ์

ใจกลาง อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่ซึ่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ตั้งอยู่เพื่อช่วยเหลือดูแลสุขภาพของประชาชน สร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพขึ้นในหมู่ชุมชน ด้วยทีมแพทย์นำโดย นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลเล็กๆ แห่งนี้มานับแต่ปี 2532 ถือเป็นแพทย์ที่อยู่กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนานที่สุด

นพ.ภักดีเผยว่า ในอดีตระบบสุขภาพไทยมีบริการแต่ในตัวจังหวัด ในเขตชนบทจะมีก็แต่เพียงสุขศาลา การมีโรงพยาบาลขึ้นในระดับอำเภอจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพใหม่ อย่างที่ด่านซ้าย กว่าจะมาถึงต้องผ่านถึง 250 โค้ง คนไข้ยอมไม่ไปหาหมอ รักษากันเองตามวิถีชาวบ้าน คนเป็นต้อกระจกต้องตาบอด ติดเชื้อก็เสียชีวิตบนเขา คลอดลูกผิดวิธีแม่ก็ตาย เพราะเดินทางไปไม่ไหว การมีโรงพยาบาลที่จุดชายขอบจึงช่วยเหลือได้มาก เพราะอาการป่วยหนักมีขึ้นทุกวัน เราสามารถช่วยคนไข้ที่ช็อก หัวใจขาดเลือด หรืออุบัติเหตุ แบ่งเบาคนไข้ไม่ให้ไปแออัดที่โรงพยาบาลใหญ่ได้

ไม่เพียงรักษาให้หาย แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

นพ.ภักดีกล่าวว่า เพราะเรารู้ว่าการเกิด อยู่ ตาย ของคนมีความเสี่ยง 3 อย่าง คือ ตัวเรา เชื้อโรค และสภาพแวดล้อมต่างๆ นโยบายของโรงพยาบาลจึงส่งเสริมการเป็นโรงพยาบาลคุณภาพ ปลอดภัย รวมไปถึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น เราเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ที่เจ้าหน้าที่อยู่กับเรานาน ไม่ย้ายไปไหน เพราะเราเปิดโอกาสให้คนได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง รวมไปถึงแบ่งปันความรู้ให้กับคนในท้องถิ่นเรื่องสุขภาพ ส่งเสริมนิเวศวัฒนธรรมตั้งแต่เกิดยันตาย 12 เดือน ประยุกต์การแพทย์สมัยใหม่กับโบราณ รวมไปถึงปลูกป่า แก้ไขปัญหาธรรมชาติ เพราะเราอยากให้สุขภาพคนในชุมชนดีแบบองค์รวม

“โรงพยาบาลเรามีเพียง 60 เตียง แต่เรามีโฮมวอร์ด 30-40 เตียง ซึ่งเป็นการใช้บ้านเป็นเตียงดูแลผู้ป่วย เพราะเราไม่รวยต้องใช้ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดคือคนช่วยดูแล เราส่งเสริมความรู้เรื่องสุขภาพให้คน ให้เขาดูแลปู่ย่าตายายของเขา ให้เขารู้ว่าหมอไม่ใช่พระเอกขี่ม้าขาวแต่ตัวเขาเองต่างหาก นี่คือแนวทางที่ยั่งยืนของโรงพยาบาลชุมชนแบบเรา”

“กว่าโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจะเติบโตเช่นทุกวันนี้ มาจากพระโอวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า ‘เอาใจใส่ เสมอหน้ากัน’ เป็นคำที่ย้ำเตือนจิตใจเราเสมอ นั่นคือไม่ใช่แค่รักษาแต่ต้องมีความเป็นมนุษย์ ให้โอกาสคนด้อยโอกาส ทั้งพระองค์ยังพระราชทานกำลังใจคนทำงานเสมอ เสด็จฯไปทรงเยี่ยมแต่ละแห่งด้วยพระองค์เอง นี่ถือเป็นสรณะที่ไม่ได้ใช้แค่เรื่องการทำงาน แต่ยึดในชีวิตประจำวันด้วย” นพ.ภักดีทิ้งท้าย

คืนชีวิตใหม่ให้ชาวใต้

คลินิกแพทย์แผนไทย สายบุรี

จากโรงพยาบาลขนาดเพียง 30 เตียง ใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อปี 2520 รักษาชาวบ้านในอำเภอที่ต้องประสบกับความกันดารและเสี่ยงภัย ทุกวันนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี ได้ก้าวขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลที่รักษาทั้งชาวไทยและต่างชาติ สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับโรงพยาบาลชุมชน

พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ

พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี เผยว่า ปัจจุบันแม้สายบุรีจะไม่กันดารมากนัก แต่ก็มีความเสี่ยงภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่ เรามีผู้บาดเจ็บหนักทุกวัน บางครั้งต้องส่งเข้าไปโรงพยาบาลประจำอำเภอก็เจอกับตะปูเรือใบ ทำให้ส่งผู้ป่วยไปไม่ได้ นั่นจึงทำให้เราต้องบริหารจัดการที่นี่ให้ดี โชคดีที่ภายหลังสถานการณ์ดีขึ้น

ทุกวันนี้ กิจการของโรงพยาบาลเติบโตขึ้น เป็นแม่ข่ายโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง มีการบริการแพทย์แผนไทย สูตินรีเวช และแผนกขาเทียม ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวบ้าน ทั้งยะลา นราธิวาส ไปจนถึงคนมาเลเซีย นอกจากนี้ยังส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการรับซื้อข้าว พันธุ์ผัก มาทำอาหารในโรงพยาบาล ส่งเสริมอาชีพให้ทุกคน

ในเรื่องนี้ พญ.ภัททิราเผยว่า แผนกขาเทียมเกิดขึ้นเมื่อเราพบว่าชาวบ้านหลายคนต้องถูกทิ้งไว้ที่บ้านเพราะเดินไม่ได้ เราจึงไปตามหาชาวบ้านทำขาเทียมให้เขา จนคนจังหวัดใกล้เคียงก็มารับบริการ คนไข้หลายคนจากไม่ได้ออกจากบ้าน ก็นั่งรถไปเรียนที่สงขลาจนจบปริญญา หลายคนยังมาทำงานกับเรา ทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกตื้นตันที่ได้ช่วยชีวิตคน นอกจากนี้เราคิดว่างานสร้างเสริมสุขภาพอยู่แค่ รพ.ไม่ได้ แต่ชุมชนมีหน้าที่รับผิดชอบ ทำให้เราลงพื้นที่ไปดูตามบ้าน ติดตามพัฒนาการเด็ก เจ้าหน้าที่แต่ละคนมีบ้านประจำ เพราะเขาเป็นคนไข้ของเราต้องดูแลให้ดีที่สุด

“แน่นอนว่าการทำงานในพื้นที่ห่างไกลต้องใช้ใจ หมอเองตั้งใจรับคนในพื้นที่ทำงาน ไม่ใช่มาใช้ทุนไม่กี่ปีแล้วไป หลายคนเป็นญาติกับชาวบ้านก็ยิ่งพูดคุยได้ง่าย รู้ว่าเรานำสิ่งดีๆ อะไรมาให้ โชคดีที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทุกคนพร้อมจะก้าวไปด้วยกัน”

นอกจากนี้ยังถือเป็นความโชคดีของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จฯไปทรงเยี่ยมผู้ป่วยด้วย

“เรารู้ว่าอยู่ห่างไกล การเสด็จเยี่ยมของพระบรมวงศานุวงศ์ถือเป็นกำลังใจให้คนที่นี่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปพระราชทานถุงของขวัญให้ผู้ป่วยทุกคน ทั้งยังมีรับสั่งอย่างใกล้ชิด ทรงสนพระราชฤทัยในปัญหาสุขภาพอย่างมาก ขณะที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ตรัสกับเราว่าขอบใจทุกคนที่ช่วยดูแลประชาชน ผู้สูงอายุที่มาเฝ้าฯ ร้องไห้ ปลาบปลื้มปีติ บอกว่าดีใจที่สุดในชีวิต ยังความปลาบปลื้มให้กับคนทำงานอย่างยิ่ง” พญ.ภัททิราทิ้งท้าย

เป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image