xs
xsm
sm
md
lg

"ฟ้าผ่า" ศาสตร์มืดแห่งการบันทึกภาพดาราศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพฟ้าผ่าเหนือบริเวณหอสุรนภา หรือ หอดอกบัว ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง ภาพละไม่เกิน 30 วินาที หลายภาพแล้วนำภาพที่บันทึกเส้นสายฟ้าได้มารวมกันด้วยซอฟแวร์ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 24-70mm f/2.8L / Focal length : 70 mm. / Aperture : 4 / ISO : 200 / Exposure : 25s)
มีคนกล่าวว่า การถ่ายภาพฟ้าผ่า เป็น “ศาสตร์มืด” ไม่ใช่ว่าเพราะต้องถ่ายภาพสิ่งเร้นลับหรอกนะครับ แต่เพราะเป็นการถ่ายภาพกับท้องฟ้ามืดๆ ที่ไม่มีแม้แสงดาว ทั้งเรายังไม่รู้ว่า...ฟ้าจะผ่าตรงไหน ตอนไหน...และทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก จึงขอเรียกแบบเท่ๆ นะครับ

ในหลักการถ่ายภาพฟ้าผ่า ณ ที่นี้ไม่ขอแนะนำและสนับสนุนให้ต้องออกจากบ้านไปอยู่กลางท้องนาเพื่อรอถ่ายภาพสายฟ้า แต่จะแนะนำเพื่อใช้ช่วงเวลาว่างของฤดูฝนที่ไม่สามารถถ่ายภาพดวงดาวได้นั้น ฝึกทักษะให้เกิดความชำนาญ ขณะที่อยู่ในบ้านในห้องพักบนโรงแรมที่เป็นตึกสูง ขณะมีฝนตกและมีฟ้าผ่า จงใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์และคุณจะได้ภาพฟ้าผ่าสวยๆ มาเป็นของคุณ

การถ่ายภาพฟ้าผ่าก็ไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากเช่นกันนะครับ การหาพิกัดและความถี่ในการลงของสายฟ้าแต่ละครั้ง รวมถึงสภาวะแสงและจุดสนใจอยู่ที่การสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าง่ายๆ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการถ่ายภาพฟ้าผ่าฟ้าแลบ จากนั้นก็ประยุกต์เทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาวที่เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ก่อนๆ (http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000020698) มาใช้ร่วมกัน ดังนั้น คอลัมน์นี้ผมขอแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพ “ศาสตร์มืด” กันแบบนักถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นะครับ

มารู้จักฟ้าผ่ากันก่อน
ก่อนที่เราจะเอาชนะอะไรก็ตามสิ่งที่ควรกระทำคือ การทำความรู้จักกับสิ่งนั้นๆ เสียก่อน ดังหลักการที่สำคัญเช่น รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง คำนี้คงได้ยินกันบ่อย เพราะนี่คือคำสังสอนของ ซุนวู ปรามาจารย์แห่งตำรับพิชัยสงครามของจีน ชนิดที่ ขงเบ้ง ก็หยิบมาใช้…ซึ่งเราก็ควรทำความรู้จักกับฟ้าผ่ากันก่อนครับ

ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยเริ่มจากการก่อตัวของเมฆฟ้าผ่า (Cumulonimbus Cloud) ที่มีทั้งประจุบวกและลบอยู่ในก้อนเมฆ เมื่อการสะสมประจุมากขึ้นก็ทำให้ศักย์ไฟฟ้าระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน มีการพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุดที่ทำให้เกิดการถ่ายเทประจุไฟฟ้าปริมาณมหาศาลระหว่างก้อนเมฆกับพื้น ดินที่เรียกว่า "ฟ้าผ่า"

ฟ้าผ่าสามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆได้ถึง 40 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียง 1 วินาทีเลยทีเดียว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับฟ้าผ่าที่โด่งดังที่สุด คงจะเป็นของ เบนจามิน เฟรงคลิน (Benjamin Franklin) ในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยใช้ว่าวทองแดงไปล่อฟ้าผ่านั่นเอง ทำให้เรารู้ว่าฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ที่ เกิดจากการไหลของประจุไฟฟ้า จากที่ๆ มีศักย์ประจุไฟฟ้าสูงไปยังที่ๆ มีศักย์ ไฟฟ้าต่ำ

เทคนิคและวิธีการ...มีดังนี้ครับ มาเริ่มต้นกันเลยดีกว่า
ก่อนอื่นเราต้องกำหนดจุดที่สายฟ้าจะฝ่าลงมาซึ่งบ่อยครั้ง มันก็จะไม่เป็นไปตามคาด เป็นเรื่องธรรมดาครับ ควรถ่ายภาพกว้างๆ ไว้ก่อน แต่หากกว้างมากๆ เส้นแสงของสายฟ้าก็อาจดูเล็กเกินไปจนขาดความสวยงาม (แต่หากมั่นใจว่าสายฟ้ามันจะลงจุดนั้นๆ บ่อยๆ แล้วหล่ะก็ คุณอาจเลือกเลนส์ในช่วงแคบๆ เพื่อให้ได้สายฟ้าที่ ใหญ่ สวย ดุ ชัดเจน ก็เป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่ากับการเสี่ยง ที่อาจได้ภาพสวยๆ หรือไม่ได้เลยก็ได้)

1. ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง (สำคัญมากที่สุด)
2. ปรับโหมดในกล้องเป็นระบบแมนนวล หรือ M (Manual) เพื่อให้สามารถปรับตั้งค่าต่างๆ ได้
3. เลือกค่า ISO100 - ISO400 ทั้งนี้อยู่อยู่กับสภาพความมืดของท้องฟ้า เพราะการใช้ค่า ISO สูงๆ นั้นนอกจากจะทำให้เกิด Noise แล้วยังทำให้ภาพฟ้าผ่าที่ได้สว่างโอเวอร์มากเกิน
4. ตั้งค่า White Balance ที่ 3600 เคลวิน หรือเลือกโหมดการปรับค่า White Balance เป็นแบบฟลูออเรสเซนต์ เพื่อไม่ให้ท้องฟ้าไม่อมสีแดงมากเกินไปครับ เพราะหากตั้งค่าเป็น Auto White Balance ภาพฟ้าผ่าของคุณท้องฟ้าจะอมสีม่วงครับ
5. ขนาดรูรับแสงที่ควรเลือกใช้ คือ f-stop f/4 –f/8 เพราะหากใช้รูรับแสงกว้างเกินไปเส้นสายฟ้าจะสว่างโอเวอร์มากเกินไป หรือหากใช้รูรับแสงแคบ เส้นสายฟ้าก็จะเล็กเกิน
6. เวลาในการถ่ายภาพ ให้ตั้งความเร็วชัตเตอร์ตั้งแต่ 4 วินาทีขึ้นไป เพราะช่วงเวลาที่เกิดฟ้าแลบ ฟ้าผ่าจริงๆ นั้นจะอยู่ที่ 1-2 วินาที โดยประมาณ ต่อครั้งเท่านั้นครับ แต่ไม่ควรเกิน 30 วินาที ซึ่งหากเปิดหน้ากล้องนาน อาจทำให้ในหนึ่งภาพ ติดสายฟ้ามากเกินไป และทำให้ภาพสว่างโอเวอร์มากเกิน ทำให้ควบคุมความสว่างของภาพได้ยาก
7. ปิดระบบ Long exposure noise reduction ของกล้อง เพื่อให้สามารถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดถ่าย Dark Frame
8. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์ และการปรับระยะโฟกัสของเลนส์ที่ระยะไกลสุด (อินฟินิตี้) เนื่องจากกล้องไม่สามารถโฟกัสได้ในเวลากลางคืน
9. ทดลองถ่ายภาพว่าเห็นรายละเอียดของฉากหน้าหรือไม่ โดยวัดแสงให้ภาพอันเดอร์ประมาณ 2-3 สตอป เพราะแสงจากฟ้าผ่าจะเป็นตัวช่วยเปิดรายละเอียดของภาพให้พอดี
ภาพเปรียบเทียบการวัดแสงถ่ายภาพ (ภาพซ้าย) เป็นภาพที่วัดแสงให้อันเดอร์ 2 สตอป แล้วเปรียบเทียบกับ (ภาพขวา)ที่ถ่ายติดฟ้าผ่าทำให้แสงเปิดรายละเอียดได้พอดี (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 24-70mm f/2.8L / Focal length : 70 mm. / Aperture : 4 / ISO : 200 / Exposure : 25s)
10. ตั้งค่ากล้องถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง โดยใช้สายลั่นชัตเตอร์ ใช้เวลาถ่ายประมาณ 1 ชั่วโมงอย่างน้อย เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าฟ้าจะผ่าตอนไหน ดังนั้นการถ่ายแบบอัตโนมัติแบบต่อเนื่องทำให้เก็บภาพได้ตลอดช่วงเวลาในการถ่ายภาพ เรียกได้ว่าภายใน 1 ชั่วโมงหากเกิดฟ้าผ่าหล่ะก็ไม่มีพลาด
11. สิ่งสุดท้ายคือ การจัดองค์ประกอบภาพ ให้มีเรื่องราวว่าเหตุการณ์นั้นเกิดที่ใด
ตัวอย่างภาพถ่ายฟ้าผ่า โดยถ่ายแบบอัตโนมัติแบบต่อเนื่องทำให้เก็บภาพได้ตลอดช่วงเวลาในการถ่ายภาพ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 24-70mm f/2.8L / Focal length : 70 mm. / Aperture : 4 / ISO : 200 / Exposure : 25s)
เมื่อมีอุปกรณ์ครบแล้ว...ก็ออกไปเดินหาทำเลที่จะถ่ายรูปกันเลยครับ ผมเลือกถ่ายที่...ระเบียงห้องพักของโรงแรมในมหาวิทยาลัย เพราะว่า... “ผมกลัวตายครับ” เนื่องจากตรงระเบียงให้ถือว่าปลอดภัยดีครับ โดยเราต้องเลือกมุมที่จะเห็นท้องฟ้าไกลๆ และฟ้าผ่าไกลๆ ฝนไม่ควรตกตรงที่เราถ่าย...จะดีที่สุดครับ เพราะเราต้องการรูปฟ้าผ่า...ไม่ได้ต้องการ...โดนฟ้าผ่า

หลังจากที่ตั้งค่าอุปกรณ์ถ่ายภาพพร้อมทั้งติดกล้องบนขาตั้งกล้องแล้ว ผม...ยังคง ปล่อยให้กล้องถ่ายแบบอัตโนมัติต่อเนื่องไป...ฟ้าฝนมาก่อตัวต่อหน้าผม และจากสังเกตความถี่ในการลงของสายฟ้า ใช่ครับ...เราต้องอยู่ให้ "ถูกที่ ถูกเวลา" กล้องพร้อม...อุปกรณ์พร้อม...การตั้งค่าพร้อม...ผมรอเก็บรูปสายฟ้า...อย่างเลือดเย็น...และแล้วธรรมชาติที่สะสมและอัดอั้นประจุอยู่นานก็ไม่สามารถทานไหว ต้องปลดปล่อยพลังงานปริมาณมหาศาลออกมา...เปรี้ยง!!!

แน่นอนหล่ะครับได้แน่...ผมถ่ายภาพต่อเนื่องประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็นำมาเลือกเอาเฉพาะภาพที่ถ่ายติดสายฟ้าแล้วนำเอาภาพมารวมกันด้วยซอฟแวร์ Starstax (For Mac.) หรือ Startrails (For Window.) เพียงเทคนิคง่ายๆ จากการประยุกเอาความรู้การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์มาใช้ ก็สามารถถ่ายภาพสายฟ้า ที่ในอดีตเคยกล่าวกันว่า ถ่ายยากถ่ายเย็น แต่ในวันนี้เปลี่ยนไปแล้วครับ และด้วยเทคนิคนี้ผมรับรองว่า 80 เปอร์เซ็นถ่ายติดสายฟ้าแน่นอนครับ

เทคนิคต่างๆ นี้คือพื้นฐานโดยทั่วไปเท่านั้น ภาพที่ดีสวยงามจะเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนถ่ายบ่อยครั้ง อย่าท้อถอยจนกว่าจะได้ภาพที่ดีที่สุด เชื่อว่าสักวันฟ้าจะประทานให้คุณอย่างแน่นอน





เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น