ดร.โสภณเสนอ "3ทำ" และ "2ไม่" แก้ฟองสบู่หนี้อสังหาฯ
  AREA แถลง ฉบับที่ 458/2560: วันจันทร์ที่ 04 ธันวาคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ เสนอ "3 ทำ" เป็นทางออกในการแก้ฟองสบู่หนี้อสังหาริมทรัพย์ พร้อมอีก "2 ไม่" ในการส่งเสริมความโปร่งใสและความมั่นคงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย

            ตามที่มีข่าว "ฟองสบู่หนี้อสังหารอบใหม่ NPL พุ่ง 3 ปีติด-ธปท.สั่งแบงก์คุมเข้ม" มีรายละเอียดว่า "หนี้แฝดอสังหาฯพุ่ง 2 ขา “เอ็นพีแอล-หนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน” ทะยานขึ้นต่อเนื่อง ไตรมาส 4/2560 พีกรอบใหม่แตะ 7.1 หมื่นล้าน แบงก์ชาติกุมขมับตัวเลขหนี้ 2 ขายังเพิ่มไม่หยุด เผยแบงก์จับมือดีเวลอปเปอร์จัดโปรดอกเบี้ยต่ำเร้าใจ เป็นเหตุแบกหนี้ ทำลูกค้าทิ้งผ่อนบ้าน เครดิตบูโรเกาะติดหนี้เน่า 1.1 แสนสัญญา Gen Y-ฟรีแลนซ์แห่ซื้อบ้าน หนี้บานปลาย ขาขึ้นยาวถึงปีหน้า" (https://goo.gl/rmj1UR)

            ปรากฏการณ์นี้จะแก้ไขอย่างไร มีทางออกอย่างไร ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มีข้อเสนอแนะสำคัญ 3 ประการคือ

            1. การให้มีสัดส่วนเงินดาวน์เพิ่มขึ้น เช่น แทนที่จะเป็น 5% อาจเป็น 15%-20% เพื่อความมั่นใจในการซื้อ-ขายที่แน่ชัด

            2. ให้มีการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้ซื้อบ้านเป็น "ภาคบังคับ" เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์

            3. ลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อผ่อนภาระของผู้กู้ เพราะสถาบันการเงินก็มีรายได้ทางอื่นอยู่มากแล้ว ระบบธนาคารมีกำไรดีและมั่นคงโดยพบว่า “สำหรับผลประกอบการของธนาคารในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2560 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 33,953 ล้านบาท. . .รายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 23,272 ล้านบาท. . .รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 11,419 ล้านบาท” (https://goo.gl/PPTX6M)

            ในทางตรงกันข้าม ดร.โสภณ เสนอข้อห้าม 2 ประการคือ

            1. ห้ามธนาคารเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเอง ทุกวันนี้ธนาคารได้รับการผ่อนผันให้ประเมินค่าทรัพย์สินในวงเงินสินเชื่อถึง 100 ล้านบาท ทำให้กลับเข้าสู่กลียุคเดิมที่สถาบันการเงินล้มระเนระนาดเพราะปล่อยกู้โดยการประเมินกันเอง ควรให้บริษัทประเมินที่เป็นกลางเป็นผู้ประเมินให้ ควรสร้างความโปร่งใสมากกว่านี้

            2. ไม่ควรให้ธนาคารเลือกปฏิบัติด้วยการปล่อยกู้แต่โครงการใหญ่หรือโครงการในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเท่าก้บเป็นการทำลายบริษัทพัฒนาที่ดินระดับ SMEs ถ้ารัฐบาลมีมาตรการตามข้อ 2 ที่ ดร.โสภณ เสนอให้ดำเนินการคุ้มครองเงินดาวน์ ไม่ว่าบริษัทใหญ่น้อยก็จะคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนกัน ทำให้การแข่งขันเท่าเทียมมากขึ้น ประชาชนมีโอกาสเลือกมากขึ้น เป็นต้น

            ดร.โสภณ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ทีมเศรษฐกิจของ ดร.สมคิดไม่ควรหลงทางไปกับข้อเสนอของสถาบันการเงินรายใหญ่ๆ แต่ในอีกแง่หนึ่งท่านเหล่านี้ก็ล้วนแต่มาจากสถาบันการเงินใหญ่ๆ มาก่อน จึงอาจไม่เห็นความสำคัญของบริษัทพัฒนาที่ดิน SMEs และผลประโยชน์ของผู้บริโภคโดยตรง

อ่าน 2,144 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved