ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชน : คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชน : คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

สร้างแล้ว
9 พฤษภาคม ค.ศ. 2013
กำลังอยู่ระหว่างการรณรงค์
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช และ
ยืนยันการรณรงค์ได้ประสบความสำเร็จ
การรณรงค์สำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีผู้สนับสนุนจำนวน22,032คน

ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

สร้างโดย อินทิรา วิทยสมบูรณ์

http://www.change.org/smallschool

แม้ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี และมีการเปลี่ยนตัวรมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ยังไม่อาจบอกได้ว่ารมต. คนใหม่จะมีแนวนโยบายในเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชนอย่างไร หากแต่เครือข่ายโรงเรียนชุมชน สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยก็ยังเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาโดยคณะกรรมการร่วมนั้น ยังเป็นกลไกสำคัญที่จะค้นหาคำตอบหรือแนวทางในการจัดการปัญหาที่เหมาะสมและมีส่วนร่วมได้ โดยคณะกรรมการร่วมจะมีการประชุม ครั้งที่ 2 ในวันที่ 16 ก.ค. นี้

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เครือข่ายฯ จึงอยากให้ทุกท่านช่วยกันจับตามอง สนับสนุนและติดตามกระบวนการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ รวมทั้งจับตามองและติดตามแนวนโยบายของรมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากนโยบายของรมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตาม เครือข่ายฯ จะเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อแสดงจุดยืน และจะแจ้งให้ทุกท่านทราบอีกครั้งหากจะมีการเคลื่อนไหว

ขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้
เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก
สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย

----------------------------------------------------

การประชุมร่วมระหว่างเครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนเล็ก)ประเทศไทย สภาการศึกษาทางเลือกไทยกับกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวานนี้(13มิย.)ที่ประชุมตกลงให้ชะลอการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กนักเรียนต่ำกว่า60คนลงมาจำนวน 5,754โรง และปรับแนวคิดการมองว่าโรงเรียนเล็กเป็นภาระของกระทรวงฯมาเป็นการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเล็กโดยมีชุมชนฐานและร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม พัฒนาผู้บริหารและครูและพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับพื้นที่ โดยมีกลไกคณะทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่แตุละภูมิภาคย่อย จะยุบเฉพาะโรงเรียนที่ไม่มีเด็กนักเรียนแล้วจำนวน113โรงโดยต้องมีการประชุมร่วมกับชุมชนก่อนดำเนินการยุบ ส่วนกลุ่มการศึกษาทางเลือกตกลงตั้งคณะทำงานชุดเล็กดูแนวทางการปลดล็อคอุปสรรคในการจัดการศึกษาทางเลือก มานำเสนอการประชุมครั้งหน้าวันที่ 16กค.56 จึงเรียนมาเพื่อร่วมขับเคลื่อนกันต่อไปกันให้สุดทาง

------------------------------------------------------------------------------------
- แถลงการณ์ผ่านสื่อมวลชนร่วมกัน “หยุดการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และทำการสำรวจความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในท้องถิ่น”
- พูดเสียงดังชัด “การยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นทางออกสุดท้าย”
- ตกปากรับคำจะสร้างการมีส่วนร่วม “จัดตั้งคณะกรรมการ(ร่วม) เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเล็ก ที่มีสัดส่วนจากภาคประชาชน และให้เครือข่ายร่วมกันกำหนดบทบาทหน้าที่”

หากแต่ในความเป็นจริง คล้ายหนังคนละม้วน เพราะ
- “ยังมีการไล่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ทุกวัน ตามพื้นที่ชุมชนในหลายจังหวัด”
- “ทั้งๆ ที่ยังมีทางแก้ไขดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม แต่กลับเลือกการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นทางเลือกแรกๆ ในการจัดการ”
- และ “ระยะเวลาเกือบ 2 อาทิตย์นับจากเวทีพบปะระหว่างกัน ...คณะกรรมการร่วมที่คาดหวังว่าจะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด”

แต่อยู่ๆ เมื่อขบวนภาคประชาชน เครือข่ายโรงเรียนชุมชนและสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย รณรงค์เดินเท้า เพื่อขอคืนการศึกษาให้ชุมชน-สังคมในวันที่ 30 พ.ค.56 คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทางเลือก โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนชุมชน ก็ได้รับการลงนามแต่งตั้งและเผยแพร่แก่สังคม

...สิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็นอยู่จากการกระทำต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยิ่งซ้ำเติมให้ความคลางแคลงใจ คำถามและความผิดหวังต่อกระทรวงแห่งนี้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งรายชื่อคณะกรรมการร่วมที่ปรากฏนั้น กลับไม่เป็นธรรม เป็นสัดส่วนที่ไม่สมดุลและไม่สร้างให้เกิดคำว่ามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง โดยมีกรรมการ 37 คน ที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐถึง 25 คน(ครึ่งหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานส่วนต่างๆ ของกระทรวงศึกษาฯ) ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน อปท. 1 คน ขณะที่มีตัวแทนจากกลุ่มการศึกษาทางเลือก 2 คน และโรงเรียนชุมชน 4 คน

เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กและสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก พิจารณาแล้วเห็นว่า จากสัดส่วนคณะกรรมการฯ เช่นนี้ สะท้อนถึงการทำงานแบบราชการที่ยังไม่กระจายและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในสัดส่วนการเป็นคณะกรรมการฯ ได้อย่างแท้จริง และอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องยุบโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งนับเป็นภารกิจหลักของกลไกชุดนี้ ด้วยเหตุนี้เอง เครือข่ายฯ จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนและปรับสัดส่วนของคณะกรรมการฯ ให้มีสัดส่วนที่สมดุลที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมมากกว่าสัดส่วนที่เป็นข้าราชการประจำกระทรวงฯ

ทั้งนี้ ระยะเวลาร่วมเดือนในการเคลื่อนไหว ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชน : สนับสนุนการคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เครือข่ายโรงเรียนชุมชนและสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นพลังสำคัญยิ่งที่มีส่วนผลักดันทำให้กระทรวงศึกษาธิการรับฟังเสียงและข้อเสนอจากเครือข่ายฯ จนเกิดการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากเสียงสนับสนุนของภาคประชาชน เกิดขึ้นด้วยเจตจำนงค์อันบริสุทธิ์และมีส่วนร่วมอย่างท่วมท้นนี้ เราจึงหวังว่า ทุกเสียงสนับสนุน ทุกพลังที่ร่วมเคลื่อนไหวจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการร่วมกันเฝ้าติดตามและผลักดันให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ จัดตั้งขึ้นมาและสามารถทำหน้าที่ในฐานะกลไกแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

13 มิถุนายน 2556 จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ชุดนี้ เป็นนัดแรก ..."ภารกิจนี้ยังไม่จบ เรายังต้องการเสียงสนับสนุนและกำลังใจจากทุกๆ คน"

----------------------------------------------------------------------------

หลังจากสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายโรงเรียนชุมชน ๔ ภาค และองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศ ได้เข้าพบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2556 นั้น ดังที่ปรากฏในเวทีการปรึกษาหารือก็ดี ในหน้าสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวชัดว่าจะระงับการพิจารณาการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และให้มีการสำรวจความคิดเห็นของชุมชน ผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่เสียก่อน รวมทั้งให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก” ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

หลังจากเวทีครั้งนั้น เครือข่ายโรงเรียนชุมชนและสภาการศึกษาทางเลือกได้ดำเนินการตามทิศทางดังกล่าวอย่างแข็งขัน มีการระดมความคิดเห็นจากเครือข่าย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งชุมชน โรงเรียน ผู้บริหาร ฯลฯ เพื่อร่วมกันออกแบบกลไกและบทบาทหน้าที่การทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว จนกระทั่งได้ส่งมอบรายชื่อและภารกิจแก่กระทรวงศึกษาธิการตามที่ได้มีการตกลงกันไว้

ทั้งๆ ที่กระบวนการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมเช่นนี้กำลังเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ หากแต่ สถานการณ์ที่ปรากฎในสังคมช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา กลับพบว่า มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวการยุบโรงเรียนเล็กเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด จนเกิดการเคลื่อนไหวจากฐานล่างอย่างชุมชนถึงท่าทีที่คัดค้านการดำเนินการดังกล่าว สถานการณ์ที่ปรากฏขึ้นนั้นทำให้เครือข่ายโรงเรียนชุมชนและสภาการศึกษาทางเลือกเกิดคำถามถึงความบริสุทธิ์ใจของกระทรวงศึกษาธิการในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก

จากความคลางแคลงใจที่เกิดขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เครือข่ายโรงเรียนชุมชนและสภาการศึกษาทางเลือกมีความเห็นร่วมกันว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการศึกษา ล้วนเป็นความทุกข์ร่วมกันของสังคม เพราะนี่คือทุกข์ของลูกหลาน อนาคตของพวกเรา

เพื่อแสดงจุดยืนดังกล่าว เพื่อติดตามความคืบหน้าและคำตอบจากกระทรวงศึกษาธิการถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางของการจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก” เครือข่ายโรงเรียนชุมชนและสภาการศึกษาทางเลือกจึงอยากเชิญชวนทุกคน ทุกพลัง ทุกการมีส่วนร่วม และทุกข์ทุกปัญหาของผู้คนที่เกิดขึ้นจากระบบการศึกษา มารวมกัน มาแสดงพลัง ประกาศจุดยืน รณรงค์ให้กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการศึกษา ขอคืนการศึกษาให้ชุมชน-สังคม : ทุกข์ของการศึกษา คือ ทุกข์ของแผ่นดิน วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐-๒๐.๐๐ ณ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันที่ 15 พฤษภาคม 2556 เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กและ สภาการศึกษาทางเลือกยื่นข้อเสนอ – เจรจา รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ให้ระงับการยุบ ควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก พร้อมหาทางออกด้านคุณภาพการศึกษา

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับข้อเสนอของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) และภาคีร่วม โดยจะให้มีการระงับการพิจารณา การยุบ ควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก และให้มีการสำรวจความคิดเห็นของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองนักเรียน ในพื้นที่ หากมีการสำรวจพบว่าโรงเรียนใดมีความพร้อมและท้องถิ่นให้ความสำคัญ เห็นควรไม่ให้มีการยุบ ก็จะไม่มีการพิจารณายุบควบรวม แต่อย่างใด

ขณะที่ เครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) และสภาการศึกษาทางเลือก มีข้อเสนอให้มีการตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก”  ซึ่งมีภาระหน้าที่เป็นคณะกรรมการด้านนโยบาย เพื่อร่วมกันดูแลแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและการศึกษาทางเลือก ที่มีตัวแทนจากทุกฝ่าย ดังนี้ ผู้แทนจากกลุ่มโรงเรียนเล็ก ๔ ภาค  จำนวน  ๘ คน , ผู้แทนจากชุมชนและองค์กรปกครองทั้งถิ่นจำนวน  ๒ คน , กลุ่มการศึกษาทางเลือก  จำนวน ๕ คน , ผู้ทรงคุณวุฒิ  จำนวน  ๓ คน , นักกฎหมาย และตัวแทนคณะกรรมการภาครัฐ (สพฐ.) และจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยหลังจากนี้จะมีการเสนอชื่อแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับรอง

คณะกรรมการฯ ดังกล่าว มีบทบาทหน้าที่ ๔ ข้อ ดังนี้
๑. กำหนดนโยบายด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและการศึกษาทางเลือก 
๒. ส่งเสริม สนับสนุนและคุ้มครองสิทธิ ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก 
๓. รวบรวมข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็ก กลุ่มการศึกษาทางเลือก เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกกรณีที่เกิดข้อ
๔.ติดตามประเมินผล กระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก

โดยเครือข่ายโรงเรียนชุมชนและสภาการศึกษาทางเลือก จะดำเนินการส่งรายชื่อคณะกรรมการฯ และบทบาทหน้าที่แก่ สพฐ.โดยเร็ว เพื่อให้เกิดกลไกในการแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงที

----------------------------------------------------------------------------------------------

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนเล็ก) ทั่วประเทศ ในฐานะภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนและผลักดันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กมาโดยตลอด ร่วมกันจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมทั้งจัดแถลงข่าวในวันที่ 11 พ.ค.56

ผลจากการระดมความคิดเห็นเกิดเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยขอให้ดำเนินการให้โรงเรียนขนาดเล็กพัฒนาเป็นโรงเรียนชุมชน จัดการศึกษา 3 รูปแบบ คือการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย, ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนชุมชน โรงเรียนละ 200,000 บาทต่อปี, ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) เช่น เกณฑ์การจัดสรรครู การจัดสรรงบประมาณ ให้เหมาะสมกับโรงเรียนขนาดเล็ก รวมทั้งจะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการโรงเรียนชุมชนและการศึกษาทางเลือกไทย หรือจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการโรงเรียนชุมชนและการศึกษาทางเลือกไทย ดูแลรับผิดชอบโรงเรียนขนาดเล็กและการศึกษาทางเลือกไทยต่างหากจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

โดยข้อเสนอเหล่านี้ ทางสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนขนาดเล็ก) ทั่วประเทศ จะนำไปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในวันที่ 15 พ.ค.56 ณ กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งจะรวบรวมรายชื่อทุกรายชื่อที่สนับสนุนการคัดค้านการยุบโรงเรียนเล็กแนบต่อท้ายในเอกสารด้วย

ทั้งนี้ บนเส้นทางการขับเคลื่อน สมาคมสภาฯ และเครือข่ายรับรู้ได้ถึงพลังการมีส่วนร่วมของผู้ลงชื่อสนับสนุนทุกท่านด้วยพลังมากล้นที่ปรากฏ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนขนาดเล็ก) ขอขอบพระคุณทุกเสียงสนับสนุน มา ณ โอกาสนี้ด้วย

----------------------------------------------------------------------------------------------------

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประกาศเตรียมยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 17,000 โรงทั่วประเทศ โดยโรงเรียนเหล่านี้จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นหัวใจของชุมชน และเป็นที่พึ่งของเด็กๆที่ยากจนไม่สามารถเดินทางไปศึกษาในแหล่งชุมชนที่ใหญ่กว่าได้ เครือข่ายโรงเรียนชุมชนสี่ภาค และสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกจึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ “คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อขอคืนพื้นที่การศึกษาให้กับชุมชน”

โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ เป็นมากกว่าสถานศึกษา เพราะโรงเรียนเหล่านี้คือจุดศูนย์รวมของชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ทั้งบริจาคที่ดิน ชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียน ช่วยทำนุบำรุงโรงเรียนทั้งแรงกายและแรงทรัพย์

การยุบโรงเรียนเป็นการหักหาญ ทำลายหัวจิตหัวใจของพ่อแม่ หัวอกของชุมชนอีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเป็นการปัดภาระให้ประชาชนต้องย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนที่ห่างไกลชุมชน และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้จะมีรถรับส่งดูแลตามที่ได้ประกาศ แต่การเรียนไกลบ้านย่อมรวมถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ย่อมจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเกินกว่าหลายครอบครัวจะแบกรับได้


เปลี่ยนจากการยุบโรงเรียนมาเป็นการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนชุมชน ที่ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารโรงเรียนอย่างแท้จริงจะดีกว่า มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ มีการระดมทรัพยากรจากทุกฝ่ายมาสนับสนุน ตามที่ได้เคยตกลงกันไว้เมื่อครั้ง ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แถลงผ่านสื่อมวลชนว่าจะร่วมมือกัน พัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมีโรงเรียนตัวอย่างมากมายเช่น โรงเรียนบ้านกุดเสถียร จ.ยโสธร , โรงเรียนบ้านท่าสะท้อน จ.นครศรีธรรมราช, โรงเรียนบ้านดอนทราย จ.นครศรีธรรมราช, โรงเรียนบ้านมอวาคี และ โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอก จ.เชียงราย

อ่านรายละเอียดแถลงการณ์ทั้งหมดด้านล่างและร่วมลงชื่อ เพื่อบอกรัฐมนตรีพงศ์เทพว่า:
“เด็กทุกคนต้องมีโอกาสทางการศึกษา ได้เลือก ได้คิด
และเรียนรู้ตามความถนัดในสิ่งที่ตนสนใจ ครอบครัว ชุมชนเป็น
ส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการศึกษา ร่วมกับโรงเรียน
เราจะไม่โยนภาระอันนี้ให้เป็นหน้าที่หลักของโรงเรียนเท่านั้น”

 

-------------------------อ่านรายละเอียดฉบับเต็มที่ด้านล่าง ------------------------------


นับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2554 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย พร้อมด้วยเครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนขนาดเล็ก) ทั่วประเทศ ได้คัดค้านต่อนโยบายดังกล่าวโดยมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งได้มีการยื่นจดหมายคัดค้านและเสนอแนวทางออกแก่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมานับตั้งแต่สมัยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จนต่อมาได้เกิดแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กร่วมกัน โดย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แถลงผ่านสื่อมวลชนว่าจะร่วมมือกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อตอบโจทย์เรื่องคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยได้ดำเนินการตามแนวทางความร่วมมือดังกล่าว มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายโรงเรียนชุมชนทั่วประเทศ พัฒนาจัดทำแผนทั้งในระดับพื้นที่ชุมชน พื้นที่จังหวัด และระดับชาติ จนเกิดเป็นแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการปฏิรูปการจัดการศึกษาแนวใหม่ ทั้งนี้แม้ต่อมาจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีทำให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา หากแต่สภาการศึกษาทางเลือกก็ยังคงเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง มีการยื่นจดหมายและเสนอแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กฯ แก่ สพฐ. มาโดยตลอด รวมทั้งได้เสนอขอให้เปลี่ยนจากการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมาเป็นการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนชุมชน ที่ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารโรงเรียน มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ มีการระดมทรัพยากรจากทุกฝ่ายมาสนับสนุน ด้วยหวังว่าจะนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมตามแนวทางอันเป็นไปตามที่ สพฐ.เคยได้แถลงต่อสื่อมวลชนไว้

ระยะเวลา 2 ปีกว่าที่สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายโรงเรียนชุมชนทั่วประเทศ และองค์กรด้านการศึกษาหลายแห่งได้ระดมสรรพกำลัง ระดมความคิดเห็น และเผยแพร่ผลงานของการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในระดับพื้นที่หลายแห่ง เช่น โรงเรียนบ้านกุดเสถียร จ.ยโสธร , โรงเรียนบ้านท่าสะท้อน จ.นครศรีธรรมราช , โรงเรียนบ้านดอนทราย จ.นครศรีธรรมราช , โรงเรียนบ้านมอวาคี และ โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอก จ.เชียงราย

อย่างไรก็ตามความหวังบนเส้นทางของกระบวนการดังกล่าวนี้กำลังพังทลายในพริบตา เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ประกาศยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 17,000 โรง จากโรงเรียนทั้งหมด 30,000โรง โดยละเลยและไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพของเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พ่อแม่อยากให้อยู่ใกล้บ้าน อยากให้อยู่ในชุมชน กับกลุ่มที่พ่อแม่ยากจนไม่สามารถส่งลูกไปที่อื่นได้ประกอบกับสามารถดูแลลูกได้สะดวกด้วย ดังนั้นการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจึงเป็นการสร้างความทุกข์ยากให้เกิดขึ้นกับพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่าจะเป็นการสร้างสุข

การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จึงสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ ดังนี้
1.ความไม่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาอันเกิดจากความล้มเหลวด้านการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึงปีละ 400,000,000,000 บาท แต่ล้มเหลวในการดูแลพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและทั่วถึงตามความต้องการของประชาชน อีกทั้งเขตพื้นที่การศึกษายังปล่อยปละละเลยการบริหารโรงเรียนทำให้ครูมีจำนวนน้อยลงเพราะขอโยกย้าย ไปโรงเรียนใหญ่ในเมืองหรือขอเกษียณราชการล่วงหน้า และขาดการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการการศึกษาที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และมองภาพการพัฒนาเชิงระบบ

2.ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน เพราะรัฐยังคงใช้วิธีคิดผูกขาดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้กับกระทรวงฯ โดยเมื่อจัดไม่ได้ดีจนเกิดโรงเรียนเล็กมากมาย ก็ยุบทิ้งแล้วเอางบประมาณรายหัว อาคารสถานที่ อัตราจ้าง และผลประโยชน์อื่นๆของโรงเรียนเล็กที่ถูกยุบมาเป็นของโรงเรียนใหญ่ และเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งที่มีวิธีการจัดการศึกษาที่เป็นทางออกได้ คือ การจัดร่วมกับภาคประชาสังคม

3.ความไม่เป็นธรรมต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยการยุบควบรวมโรงเรียนเล็ก เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ และขาดความรับผิดชอบ โดยปัดภาระให้ประชาชนต้องย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนที่ห่างไกลชุมชน และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้จะมีรถรับส่งดูแล แต่การเรียนไกลบ้านย่อมรวมถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ย่อมจะเกิดขึ้นตามมา

4.ความไม่เป็นธรรมต่อเด็กในด้านการเรียนรู้ เพราะรัฐยังคงเน้นการจัดการศึกษาโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เน้นการจดจำสาระวิชาเพื่อไปสอบแข่งขันศึกษาต่อ เพื่อผลิตแรงงานสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ซึ่งล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพเด็กที่รอบด้าน และสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมที่หลากหลายตามบริบท

5.ความไม่เป็นธรรมต่อชุมชน สิ่งที่สำคัญยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการละเลยไม่พูดถึง คือ โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ชุมชนมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ทั้งบริจาคที่ดิน ชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียน ช่วยทำนุบำรุงโรงเรียนทั้งแรงกายและแรงทรัพย์ การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กโดยไม่ได้รับฟังเสียงสะท้อน คัดค้านจากเจ้าของพื้นที่ เจ้าของโรงเรียนตัวจริงอย่างชาวบ้าน ชุมชน จึงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างเห็นได้ชัด

และ 6.ความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการบริหารจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์ของรัฐ การจัดสรรงบประมาณตามขนาดของโรงเรียนหรือจัดสรรงบอุดหนุนตามรายหัว โรงเรียนใหญ่ได้รับงบประมาณเยอะกว่าโรงเรียนเล็ก วิธีการนี้กำลังถ่างให้เกิดความเหลื่อมล้ำ งบอุดหนุนที่ไม่เท่ากันย่อมนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนได้ไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดเช่นนี้ แต่การประเมินคุณภาพการศึกษากลับใช้มาตรฐาน ไม้บรรทัดเดียวกันในการชี้วัดซึ่งไม่เป็นธรรม

ท่าทีและแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ จึงเป็นการหักหาญ ทำลายหัวจิตหัวใจของพ่อแม่ หัวอกของชุมชนอย่างยิ่ง ซึ่งหากกระทรวงศึกษาธิการไม่พร้อมที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชนให้มีคุณภาพได้ สภาการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนขนาดเล็ก) ทั่วประเทศ มีข้อเสนอดังนี้

1.กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ลูกหลานของตนเองตรงตามบริบทแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างมิติการศึกษาที่หลากหลายด้วยการดึงความรู้จากชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาคการศึกษาในระบบผ่านการหนุนเสริมทั้งด้านงบประมาณและรับรองความรู้จากกระทรวงศึกษาธิการด้วยการให้สถานศึกษาทางเลือกและชุมชนคิดและจัดการได้ด้วยตนเอง

2.ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน ยกเลิกนโยบายการยุบ เลิกหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทพื้นที่ห่างไกลและที่อื่นๆ โดยเปลี่ยนเป็นส่งเสริมและมอบให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลบริหารจัดการ ตามแนวทางการศึกษาของชุมชน และการศึกษาทางเลือกที่มีความหลากหลาย โดยให้ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการโรงเรียนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ สภาการศึกษาทางเลือกได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่า หากกระทรวงศึกษาธิการยังเดินหน้ายุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง โดยไม่รับฟังแนวทางจากภาคประชาชนแล้วนั้น สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษา ที่เป็นต้นตอสำคัญซึ่งทำให้เกิดวิกฤติทางการศึกษาในครั้งนี้และในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

“เด็กทุกคนต้องมีโอกาสทางการศึกษา ได้เลือก ได้คิด
และเรียนรู้ตามความถนัดในสิ่งที่ตนสนใจ ครอบครัว ชุมชนเป็น
ส่วนหนึ่งของการกระบวนการทางการศึกษา ร่วมกับโรงเรียน
เราจะไม่โยนภาระอันนี้ให้เป็นหน้าที่หลักของโรงเรียนเท่านั้น”

ด้วยความเชื่อมั่นในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย
สมาคมบ้านเรียน
เครือข่ายโรงเรียนไทยไท
เครือข่ายการศึกษาทางภาคเหนือ
เครือข่ายการศึกษาทางภาคกลาง
เครือข่ายการศึกษาทางภาคอีสาน
เครือข่ายการศึกษาทางภาคใต้
เครือข่ายโรงเรียนชุมชน
เครือข่ายการศึกษาทางเลือกชนเผ่าพื้นเมือง
9 พฤษภาคม 2556

ยืนยันการรณรงค์ได้ประสบความสำเร็จ

การรณรงค์สำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีผู้สนับสนุนจำนวน22,032คน

แชร์แคมเปญรณรงค์นี้

แชร์แคมเปญรณรงค์นี้ด้วยตัวคุณเองหรือใช้รหัสคิวอาร์นี้ในสื่อของคุณดาวน์โหลดรหัสคิวอาร์

ผู้มีอำนาจตัดสินใจ

  • นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
  • คุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา